General

พช. ลุยเฟส 2 ‘ปลูกผักสวนครัว’ ยุติความหิวโหย สร้างความมั่นคงทางอาหาร

ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร กว่า 12.5 ล้านครัวเรือน พช.เดินหน้าขับเคลื่อน 18 จังหวัดปลูกครบ 100% พร้อมเดินหน้าเฟส 2 ยุติความหิวโหย

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดี กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน น้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร

cover ปลูกผักสวนครัว

ทั้งนี้ เพื่อสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร ในระดับครัวเรือน ลดรายจ่าย สร้างรายได้ระยะสั้น ทั้งในระดับครัวเรือน และระดับกลุ่มอาชีพ โดยประกาศเป็นปฏิบัติการ Quick Win 90 วัน ในช่วงวิกฤติไวรัสโควิด-19

สำหรับเฟสแรก ได้ดำเนินการระหว่าง วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 มีครัวเรือนเป้าหมายทั้งหมดจำนวน 12.9 ล้านครัวเรือน

ผลการดำเนินการโครงการเฟสแรก พบว่า มีประชาชนทั่วประเทศ ร่วมปลูกผักสวนครัวถึง 12,573,072 ครัวเรือน คิดเป็น 96.89% ยิ่งไปกว่านั้นมีถึง 18 จังหวัดจากทุกภาคปลูกครบ 100% ได้แก่ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ตาก อุบลราชธานี พัทลุง สุโขทัย อุดรธานี สุราษฎร์ธานี สกลนคร ชัยภูมิ ตราด บึงกาฬ เพชรบุรี มุกดาหาร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา และภูเก็ด

2JUL ผักสวนครัว

จากผลตอบรับแผนปฏิบัติการ 90 วันในเฟสแรก มีครัวเรือนจากทั่วประเทศเข้าร่วม แสดงให้เห็นว่า ประชาชนที่ร่วม ปลูกผักสวนครัว ได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้มีผักกินเองในบ้าน โดยที่ไม่ต้องซื้อหาจากข้างนอก ปลูกผักที่กิน กินผักที่ปลูก ประหยัดรายจ่าย เท่ากับเพิ่มรายได้

“คิดง่าย ๆ ว่า จำนวน 12 ล้านครัวเรือน ประหยัดเงินจากการซื้อผักครัวเรือนละ 50 บาท เท่ากับประหยัดเงินได้ 600 ล้านบาทต่อวัน หรือ 18,000 ล้านบาทต่อเดือน รวมแล้วประหยัดได้กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี หากมีมากก็แบ่งปันกันระหว่างเพื่อนบ้าน ระหว่างคนในชุมชน และเมื่อเป็นผักที่ปลูกเองก็จะระมัดระวังเรื่องสารเคมีต่างๆ กลายเป็นพืชผักปลอดภัยที่เสริมสร้างสุขภาพร่างกายอีกด้วย” นายสุทธิพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ ผลสำเร็จของเฟสแรก กรมฯ จึงมองไปข้างหน้าที่จะต่อยอดให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยจะขับเคลื่อนกิจกรรมปลูกผักต่อด้วยการดำเนินงาน “น้อมนำแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สู่แผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ระยะที่ 2

พช.

แผนการดำเนินงาน สร้างวัฒนธรรมปลูกพืชผักประจำครัวเรือน ระยะที่ 2 จะดำเนินการขับเคลื่อนระหว่าง 1 กรกฎาคม – 5 ธันวาคม 2563 โดยยังคงยึดหลักการดำเนินการในระยะที่ 1 คือ จะพัฒนาใครเขาต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ผู้นำต้องทำก่อน ผนึกกำลัง ตั้งระบบ ทำให้ครบวงจร ส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวแบบเข้าถึงทุกครัวเรือน และสร้างเครือข่ายขยายผล ซึ่งเป็นแนวทางขับเคลื่อนที่เข้มแข็งและประสบผลสำเร็จแล้ว

ขณะที่เป้าหมายในเฟส 2 จะยิ่งเข้มข้นกว่าเฟสแรก เพราะต้องการให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริงในทุกชุมชน เริ่มจาก “ความต่อเนื่องคือพลัง” ส่งเสริมการปลูกพืชผักที่ปลูกอยู่แล้ว ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และปลูกพืชผักเพิ่มเติมจากเดิม รวม 10 ชนิด เพื่อทำเป็นบ้านสานเป็นกลุ่ม ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มปลูกพืชผักประจำครัวเรือน เช่น มะนาว กล้วย มะละกอ เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเน้นการบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกินให้มีมูลค่าเพิ่ม สร้างชุมชนสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างจิตวิญญาณรักสิ่งแวดล้อม และสร้างชุมชนสีเขียว ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง กับอาหารและของใช้ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน จากพืชผักอาหารรักษ์สุขภาพ อาหารรักษ์โลก ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพื้นบ้าน นำไปสู่ ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง เกิดชุมชนเกื้อกูลและแบ่งปันจัดตั้งศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ หรือต่อยอดในรูปแบบอื่นๆ

ปลูกผักสวนครัว2

ทั้งนี้ กรมฯ จึงได้ตั้งเป้าหมายของเฟสสอง เอาไว้ที่ 90% ของครัวเรือนในหมู่บ้าน ปลูกพืชผักสวนครัว อย่างน้อยคนละ 10 ชนิด มีกลุ่มผลิตหรือแปรรูปหรือจำหน่ายพืชผักอย่างน้อยตำบลละ 1 กลุ่ม รวมไปถึง 90% ของครัวเรือนที่ปลูกพืชผัก ทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีกิจกรรมเชิงนวัตกรรมและศูนย์ขยายเมล็ดพันธุ์ทุกตำบล

การขับเคลื่อนครั้งนี้มุ่งหวังให้เกิด ความมั่นคงทางอาหาร อย่างแท้จริงในทุกชุมชนทั่วประเทศ ทำให้พี่น้องประชาชนมีพืชผักปลอดภัยไว้กินเอง และแบ่งปัน รวมถึงขยายผลต่อยอดสร้างรายได้

สิ่งสำคัญคือเพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับโภชนาการ ส่งเสริมการเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ และสร้าง ความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนในประเทศไทย

อ่านข่่าวเพิ่มเติม

Avatar photo