Business

หอการค้า เห็นด้วย รัฐยกเลิกเคอร์ฟิว วอนคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พร้อมหนุน Travel Bubble

รัฐยกเลิกเคอร์ฟิว หอการค้ายกมือสนับสนุน แต่ขอให้คง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน คุมโควิด-19 ไม่ให้ระบาดซ้ำ เผยหลังคลายล็อกระยะ 3 ดันเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจ 1-2 แสนล้าน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ หอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะ ประธานคณะทำงานกลุ่มมาตรการสำหรับการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ภายใต้คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เปิดเผยว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการที่ รัฐยกเลิกเคอร์ฟิว แต่ยังควรต้องมีพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ก่อน

รัฐยกเลิกเคอร์ฟิว คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมา การประกาศใช้เคอร์ฟิวไม่ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจมากนัก เพราะช่วงเวลาเคอร์ฟิว เป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้เดินทางไปไหนอยู่แล้ว  โดยกลุ่มที่กระทบจะเป็นธุรกิจ หรือ กิจการที่ดำเนินการตอนกลางคืนมากกว่า ดังนั้น การที่ รัฐยกเลิกคอร์ฟิว จึงเอื้อกับกลุ่มนี้มากกว่า

สำหรับ เหตุผลที่ต้องการให้คง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้นั้น ก็เพื่อช่วยควบคุม และ ป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำของโรคโควิด-19 รวมทั้งควรจะมีมาตรการอื่นๆ ทยอยออกมาเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นกังวล คือ การควบคุมคนในประเทศและกลุ่มที่จะเข้ามาในประเทศ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดรอบสอง จึงแนะนำว่า ในการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ ควรพิจารณาประเทศ ในกลุ่มที่พอจะมีการควบคุมสถานการณ์ได้ หรือ เปิด Travel Bubble เช่น จีน เวียดนาม ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งต้องมั่นใจว่า ประเทศไทยมีมาตรการรองรับ ในการคัดกรองที่ดีพอเช่นกัน

นายกลินท์ สารสิน
กลินท์ สารสิน

นอกจากนี้ หอการค้าไทยฯ จับมือร่วมกับภาคสาธารณสุข ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เดินหน้าโครงการเปิดเมือง ปลอดภัย พร้อมจัดงานสัมมนาออนไลน์ “ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 รับมือมาตรการผ่อนปรน ระยะที่ 3” ระดมวิทยากรระดับประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมไขข้อข้องใจ ในทุกประเด็น กับทิศทางประเทศไทยหลัง คลายล็อคดาวน์ ระยะที่ 3 เพื่อร่วมขับเคลื่อน โครงการ เปิดเมือง ปลอดภัย

ในงานสัมมนาดังกล่าวว่า หอการค้าไทยฯ ประเมินว่า หลัง คลายล็อกดาวน์ ระยะที่ 3 สำหรับกิจการและกิจกรรมในกลุ่มสีเหลือง ซึ่งมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับปานกลางถึงสูง ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-2 แสนล้านบาท

“ตั้งแต่มีการคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 1 ในกลุ่มสีขาวหรือความเสี่ยงต่ำ และ มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 และ ระยะที่ 2 ในกลุ่มสีเขียวหรือความเสี่ยงปานกลาง วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ 2 แสนล้านบาท” นายกลินท์ กล่าว

รัฐยกเลิกเคอร์ฟิว

 

จากการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 (ณ เดือนพฤษภาคม 2563) ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินว่า GDP ของประเทศไทยจะติดลบ 3-5% ซึ่งเป็นระดับดีกว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าจะติดลบ 6.7%

การประเมิน จีดีพี ว่าจะติดลบเพียง 3-5% เนื่องจากมองว่า ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มีมาตรการเยียวยา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการพิจารณาเปิดประเทศ และ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งต้องดูเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ รวมถึงกำหนดกระบวนการที่ชัดเจน ในการจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติ ทั้งนักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวเข้าประเทศในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนไทยว่า จะไม่เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 (Second Wave) จากการให้คนต่างชาติเข้าประเทศ

กลินท์
กลินท์ สารสิน

ขณะที่ มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่จะมีออกมา เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลในเรื่องของผู้ว่างงาน และแผนการพัฒนาประเทศ รวมถึง การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หลังจาก พ.ร.ก. กู้เงิน ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ปัจจุบัน จะเห็นบรรยากาศการปรับตัว เพื่อประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจผ่านระบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นโอกาสใหม่ๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการทำงาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสร้างสรรค์บริการต่างๆ ที่น่าสนใจ เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo