Business

เปิดรายละเอียดไทม์ไลน์และ 5 ช่องทางรอด ‘ฟื้นฟูกิจการการบินไทย’

วันนี้ (8 มิ.ย.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI จัดการประชุมออนไลน์  (e-Meeting) เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน บุคคลที่เกี่ยวข้อง และชี้แจงแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการการบินไทย ตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ฟื้นฟูกิจการการบินไทย

นางอรอนงค์ ชุณหะมาน ผู้อำนวยการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และบริหารกลาง บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรอบเวลาและขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการของบริษัทว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย และต่อมาวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องดังกล่าว ส่งผลให้การบินไทยอยู่ภายใต้สภาวะบังคับชั่วคราว (Automatic Stay) พักการชำระหนี้ แต่ยังสามารถทำธุรกิจต่อไปได้

ในวันที่ 13 สิงหาคม 2563 จะเป็นวันสุดท้ายที่เจ้าหนี้สามารถยื่นคำคัดค้าน, วันที่ 17 สิงหาคม 2563 เป็นวันที่ศาลฯ นัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และช่วงปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2563 ศาลฯ จะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ

ฟื้นฟูกิจการการบินไทย

ปมแต่งตั้งผู้ทำแผน

จากนั้น ถ้าศาลฯ มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอ ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิร์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ผู้ทำแผนจะต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน แล้วส่งแผนให้พนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประมาณเดือนมกราคม 2564

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน และประมาณปลายเดือนเมษายน 2563 ศาลฯ จะมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน เพื่อเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูต่อไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าเจ้าหนี้เสนอผู้ทำแผนแข่ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผน และประมาณมกราคม 2564 ศาลฯ จะมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผน โดยต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการภายใน 3 เดือน และส่งแผนให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประมาณเดือนเมษายน 2564

จากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผน, ประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2564 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้บริหารแผน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรอบระยะเวลาในการดำเนินการฟื้นฟูกิจการข้างต้นเป็นเพียงประมาณการ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงภายหลัง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคต

ด้านระยะเวลาในการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและเหตุการณ์ในอนาคต แต่การดำเนินการตามแผนต้องทำให้เสร็จภายใน 5 ปี นับจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน โดยสามารถขยายกำหนดระยะเวลาได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์1 700x464 1 e1590426119577

เสนอผู้มากประสบการณ์

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาของบริษัทเพื่อให้การ ฟื้นฟูกิจการการบินไทย ประสบความสำเร็จและพ้นการติดเครื่องหมาย C (Caution) เพื่อแจ้งเตือนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ซื้อขายด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) นั้น

นางอรอนงค์ กล่าวว่า คือการเสนอแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์เข้ามาแก้ไขปัญหา คือ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิร์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

หากศาลฯ มีคำสั่งให้บริษัทฟื้นฟูกิจการและแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว ผู้ทำแผนที่ได้รับคำแต่งตั้งจากศาลฯ จะมีอำนาจในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท, บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นของการบินไทย ยกเว้นสิทธิที่จะได้รับเงินปันผล และอำนาจจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

ฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

5 ทางรอด ฟื้นฟูกิจการการบินไทย

สำหรับช่องทางการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในเบื้องต้น โดยจะขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูองค์กร ที่ผู้ทำแผนเป็นผู้เขียนด้วย มีอยู่ 5 ด้าน คือ ประกอบด้วย

1.การปรับโครงสร้างหนี้

  • เจราจากับเจ้าหนี้รายต่างๆ เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้และภาระการชำระหนี้ ขอลดเงินต้นและดอกเบี้ย ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด จากการดำเนินงานของบริษัท
  • การหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นและปรับโครงสร้างเงินทุนในระยะยาว

2.ปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน

  • บริหารจัดการหรือยกเลิกเส้นทางที่ไม่ทำกำไร หรือไม่สามารถปรับปรุงให้สามารถทำกำไรได้ในอนาคต
  • ปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการเส้นทางการบินให้เหมาะสมมากขึ้น
  • ปรับลดประเภทของเครื่องบินในฝูงเพื่อลดต้นทุน

3.ปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน

  • เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เช่น การตั้งบริษัทย่อย
  • จัดหาพันธมิตรทางธุรกิจมาร่วมทุน
  • หาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรของหน่วยธุรกิจ

4.ปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้

  • ปรับปรุงระบบและรูปแบบการจำหน่ายบัตรโดยสาร โดยเป็นการจำหน่ายตรง ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อินเตอร์เน็ต แพลตฟอร์มต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น
  • พัฒนาขีดความสามารถในการหารายได้
  • ปรับปรุงโครงสร้างการคิดค่าตอบแทน เงื่อนไข และการประเมินผลงานของตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสมและรัดกุมมากยิ่งขึ้น
  • นำเทคโนโลยีมาช่วยในการกำหนดราคาบัตรโดยสารและการปล่อยที่นั่งให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด

5.ปรับปรุงโครงสร้างองค์กร

  • ปรับปรุงองค์กรให้กระชับ ลดงานที่ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น
  • เพิ่มศักยภาพในการทำงานในแต่ละหน่วยธุรกิจให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน
  • พิจารณาปรับจำนวนพนักงนและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน ให้สอดคล้องกับความสามารถในการบริหารจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำลังการผลิตของการบินไทย
  • การบินไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของพนักงาน
  • สวัสดิการของพนักงานเปลี่ยนไปเข้าระบบประกันสังคมตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ออสเตรเลีย5

ไม่ฟื้นฟู ไม่มีทางรอด

นางอรอนงค์ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการการบินไทยในครั้งนี้ มาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือความร่วมมือและสนับสนุนของเจ้าหนี้อย่างเพียงพอ ทั้งในการแต่งตั้งผู้ทำแผน เห็นชอบแผนฟื้นฟู และแต่งตั้งผู้บริหารแผน และการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฯ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ หากการบินไทยไม่ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย การบินไทยไม่มีทางจะดำเนินกิจการต่อไป โดยจะต้องถูกบอกเลิกสัญญาและสิทธิต่างๆ เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจการบิน และต้องถูกฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้จนล้มละลายในที่สุด

หากบริษัทล้มละลาย จะก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ ตามมา ได้แก่ ธุรกิจหยุดชะงัก พนักงานว่างงาน และบริษัทที่การบินไทยว่าจ้าง (Outsource) หรือคู่ค้าอาจจะประสบปัญหาทางการเงินเช่นกัน หุ้นของการบินไทยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีมูลค่า ไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ ทำให้นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ทั้งหลายได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นในการลงทุน

ในภาพใหญ่ จะส่งผลกระทบต่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เนื่องจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวถือเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย

ออสเตรเลีย1

ศาลฯ พิจารณาคำร้อง 3 ประเด็น

ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมาย เปิดเผยว่า ในการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการการบินไทย โดยศาลล้มละลายกลางในวันที่ 17 สิงหาคม 2563

ในหลักการศาลฯ จะพิจารณาใน 3 ประเด็นคือ 1.สถานะ ทรัพย์สิน หนี้สิน ความสามารถในการชำระหนี้ 2. มีเหตุอันสมควรให้ศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้หรือไม่ 3.บุคคลที่การบินไทยเสนอให้เป็นผู้ทำแผน เหมาะสมหรือไม่ โดยหากศาลฯ ไต่สวนได้ความจริงตามองค์ประกอบทั้งหมดแล้ว ศาลฯ จะมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนตามที่เสนอ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo