Business

ห้าม ‘พนักงานการบินไทย’ ให้ข่าวเสียหาย ฟันโทษสูงสุดถึงขั้นไล่ออก

ข้อกำหนดใหม่! “ห้ามพนักงานการบินไทยให้ข่าว” ทำแตกแยกหรือเสียหาย ฝ่าฝืนฟันโทษทางวินัย สูงสุดถึงขั้นไล่ออก ด้านพนักงานล่ารายชื่อร้องกระทรวงแรงงาน ค้านข้อกำหนดละเมิดสภาพการจ้างเดิม

ห้ามพนักงานการบินไทยให้ข่าว

รายงานข่าวจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า การบินไทยได้ออกประกาศเรื่อง ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยกำหนดการกระทำที่เข้าข่ายผิดวินัยของบริษัทเพิ่มเติม คือ การ ห้ามพนักงานการบินไทยให้ข่าว ที่สร้างความแตกแยกหรือเสียหายแก่บริษัท มิเช่นนั้นจะมีโทษทางวินัย สูงสุดถึงขั้นไล่ออก

โดยข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ข้อที่ 7 ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของบริษัทและหรือของบุคคลซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ต่อผู้ที่ไม่มีสิทธิรับรู้ตามกฎหมายระเบียบ หรือข้อบังคับ หรือข้อตกลงทางธุรกิจ รวมถึงสื่อมวลชน สาธารณะและ/หรือบุคคล โดยเจตนาให้เกิดความแตกแยก และหรือเกิดความเสียหายกับบริษัท ในรูปแบบ ต่างๆ เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ เป็นต้น เว้นแต่มีหน้าที่หรือได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้มีอำนาจดำเนินการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ถือเป็นการทำผิดวินัย

หากพบว่าฝ่าฝืน บริษัทจะดำเนินการลงโทษตามระดับความรุนแรง เช่น ตักเตือน ตัดเงินเดือน พักงาน หากทำผิดซ้ำอาจโดนลงโทษให้ออกจากงาน

S 29212704

รายงานข่าวจากการบินไทยเปิดเผยต่อว่า นอกจากการห้ามพนักงานให้ข่าวแล้ว ข้อบังคับดังกล่าว ซึ่งออกโดยฝ่ายบริหาร ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างใหม่หลายด้าน เช่น งาน เวลาพัก วันหยุด หลักเกณฑ์การทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด วินัยและโทษทางวินัย การเลิกจ้าง ค่าชดเชย ค่าชดเชยพิเศษ  และข้อกำหนดอื่นๆ เพื่อนำมาบังคับใช้กับพนักงานบริษัท ภายหลังจากที่บริษัทหลุดพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ

จากปกติบริษัทจะต้องนำสิทธิ์พื้นฐานตามระบบเดิมมาใช้ แต่ครั้งนี้บริษัทมีการกำหนดสิทธิ์ขึ้นใหม่ ทำให้สิทธิ์พื้นฐานหายไป ทั้งนี้ในส่วนสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลและค่าเล่าเรียนบุตรที่จะหมดไปตามฐานะบริษัทที่เปลี่ยนสภาพเป็นนิติบุคคล เป็นเรื่องที่พนักงานยอมรับได้และเข้าใจ

แต่สิทธิ์เรื่องสภาพการจ้างอื่นๆ พนักงานยอมไม่ได้  เพราะสิทธิ์ตามสภาพการจ้างพื้นฐานในฐานะบริษัทเอกชน และรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่แตกต่างกัน แต่บริษัทกลับมาปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างใหม่ โดยกำหนดสิทธิ์ทุกอย่างให้เป็นขั้นต่ำสุด เช่น วันพักผ่อนตามประเพณีปกติได้ 14 วัน แต่ประกาศใหม่ ปรับลดลงเหลือ 13 วัน การลาหยุดพักผ่อนประจำปีเดิม กำหนดตามอายุงานใหม่ลาได้ 6 วัน  อายุงาน 10 ปีขึ้นไปก็มีทั้ง 10 วัน  15 วัน และ 24 วัน แต่ประกาศใหม่ให้หยุด 6วั น  หลักการคิดคำนวนค่าล่วงเวลาก็ลดลง รวมถึงการคำนวนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย

ห้ามพนักงานการบินไทยให้ข่าว

ทั้งนี้ ตามกฎหมายของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 มีการกำหนดเหมือนกันว่า เอกชนที่มีการเปลี่ยนแปลงนายจ้างให้ยึดสภาพการจ้างเดิม แต่กรณีนี้พนักงานไม่ได้เปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างยังคงเป็นบริษัทการบินไทยตามเดิม แต่บริษัทกลับฉวยโอกาศเปลี่ยนสภาพการจ้าง ถือเป็นการเอาเปรียบพนักงาน เหมือนกับให้นักงานทุกคนเริ่มนับ 1 ใหม่ในสิทธิ์ต่างๆ

ล่าสุดพนักงานการบินไทย จึงกำลังล่ารายชื่อผู้คัดค้านข้อบังคับดังกล่าว เพื่อยื่นถึงกระทรวงแรงงานภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้

“พนักงานจำนวนมาก ไม่พอใจที่บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งตามกฎหมายหากพนักงานไม่คัดค้านจะถือว่ายอมรับสภาพ ดังนั้น พนักงานที่ไม่เห็นด้วยกำลังล่ารายชื่อ เพื่อรวบรวมรายชื่อใช้สิทธิ์คัดค้านประกาศข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทที่ออกมาใหม่ โดยจะร้องขอกระทรวงแรงงานให้พิจารณาสั่งการให้บริษัทคงสภาพการจ้างตามเดิม คาดว่าจะยื่นคัดค้าน ไปยังกระทรวงแรงงาน ได้ภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้” แหล่งข่าวกล่าว

Mr.Chansin Treenuchagron 3 ชาญศิลป์

วันนี้ (8 มิ.ย.) การบินไทย หรือ THAI ยังได้ส่งหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ครั้งพิเศษที่ 12/2563 มีมติเสนอนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการ และกรรมการอิสระ เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ (ผู้ทำแผน) ในคดีฟื้นฟูกิจการของบริษัทเพิ่มเติม

การบินไทยได้ยื่นคำร้อง ขอแก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทแก้ไขคำร้องขอฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทขอแล้วในวันที่ 5 มิถุนายน 2563

ดังนั้น ผู้ที่บริษัทเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อให้มีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำแผนงานของบริษัท ได้แก่ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิร์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo