Business

7 องค์กรอสังหาฯ ขอบคุณรัฐบาล คลอดมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ชี้ผลดีแต่ละมาตรการ เช็กเลย

7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกาศขอบคุณรัฐบาล ออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เชื่อช่วยฟื้นอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องและภาพรวมเศรษฐกิจไทย

ตามที่ 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน สมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ และสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย ได้ทำหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกอบกับทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลได้ออกมาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง

มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ

ทั้ง 7 องค์กรต้องขอขอบพระคุณคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีและการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้

1. มาตรการเรื่องลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองในการซื้อที่อยู่อาศัยจากระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และปรับปรุงค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์จาก 1% เป็น 0.01% โดยผู้ซื้อที่อยู่อาศัยจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลดภาระค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์

นอกจากนี้ ยังจะส่งผลดีต่อธุรกิจเชื่อมโยงต่าง ๆ จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น วัสดุก่อสร้าง การจ้างแรงงาน เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์การตกแต่ง เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงการใช้สาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา รวมถึงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินในการที่จะจำหน่ายหลักประกันซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยออกไปได้ง่ายขึ้น

มาตรการดังกล่าว แม้ว่าจะดูเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ก็เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในขณะที่เศรษฐกิจโดยรวมยังคงชะลอตัวอยู่

2. มาตรการเรื่องการนำเงินที่ว่าจ้างก่อสร้างบ้านมาลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในจำนวนล้านละ 1 หมื่นบาท และโดยรวมไม่เกิน 1 แสนบาท นอกจากจะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนก่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของตัวเอง รัฐบาลยังสามารถเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของการซื้อวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ ในการก่อสร้างบ้าน และผู้รับจ้างสร้างบ้านจะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลอีก 20% (แล้วแต่กรณี )

ขณะเดียวกัน ยังเป็นการจูงใจให้ผู้ทำธุรกิจรับสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องเข้าสู่ระบบการเสียภาษีมากขึ้น เพราะผู้ที่จะว่าจ้างให้ก่อสร้างบ้านย่อมจะต้องกดดันให้ผู้รับจ้างสร้างบ้านต้องทำสัญญาโดยถูกต้อง เพื่อผู้ว่าจ้างสร้างบ้านจะได้รับการลดหย่อนภาษีของตนเองในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

shutterstock 2128681709

3. มาตรการในการขยายวงเงินสินเชื่อบ้านล้านหลังจาก 1.5 ล้านบาท เป็น 3 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 3%

กรณีนี้เป็นผลดีอย่างมากต่อผู้มีรายได้น้อยและปานกลางที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย เพราะสามารถที่จะขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น ลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินลงได้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงทำให้อัตราการผ่อนต่อเดือนลดลง ประกอบกับ ประชาชนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องมีที่อยู่อาศัย ซึ่งมาตรการนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมด้วย

4. เรื่องการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางโดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สำหรับที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

มาตรการดังกล่าวจะมีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้

นอกจากนี้ยังเป็นการแบ่งเบาภาระหน่วยงานของรัฐที่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง

5. เรื่องการขยายระยะเวลาเช่าให้มีระยะเวลาเช่าเกินกว่า 30 ปี และกำหนดให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ (Real right)

ภาคเอกชนมีความเห็นว่าประเด็นนี้ ถือเป็นการวางโครงสร้างการอยู่อาศัย และการใช้ที่ดินในระยะยาวของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมการท่องเที่ยว ดังนั้นความต้องการความมั่นคงเรื่องที่สิทธิการเช่าจึงต้องตามมาด้วย

ในขณะเดียวกันการขยายระยะเวลาเช่ายังเป็นประโยชน์ต่อผู้เช่า ซึ่งเป็นคนไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ดินที่อยู่ในเขตเมืองจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินของหน่วยงานของรัฐ หรือเป็นที่ดินของเอกชนที่ไม่ประสงค์จะขายที่ดินออกมาเพื่อการพัฒนา แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้เช่า

การขยายระยะเวลาเกินกว่า 30 ปี และให้การเช่าเป็นทรัพยสิทธิ จะก่อให้เกิดความมั่นคงในเรื่องระยะเวลา ที่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ และมีความคล่องตัวในการดำเนินการในทรัพย์สินที่เช่าตลอดช่วงอายุสัญญา พร้อมกับจะเป็นการแก้ปัญหาการถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวต่างชาติด้วย

6. เรื่องการขอลดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรร ได้แก่ ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านเดี่ยว จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา ที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแฝด จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา และที่ดินพร้อมอาคารประเภทบ้านแถวหรืออาคารพาณิชย์ จากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา

LINE ALBUM ภาษีที่ดินรถบ้าน ๒๒๐๔๒๕

ทั้งนี้ การลดขนาดขนาดที่ดินในโครงการจัดสรรลงมา จะมีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และขนาดครอบครัวที่เล็กลง รวมถึงจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนได้มากขึ้น และเป็นผลดีต่อการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้นจากระดับราคาที่ลดลง ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา

ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในอัตราต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์มีความเห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาดังกล่าว และการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเป็นการกระตุ้นธุรกิจอุตสาหกรรมจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคสถาบันการเงินด้วย

พร้อมกันนั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของที่อยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ที่ดินของประเทศในระยะยาวต่อไป รวมถึงจะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ และภาคการลงทุนอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของภาคครัวเรือนด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo