Business

เปิดผลสำรวจ ‘สงกรานต์ 2567’ คนไทยแห่เที่ยว คาดเงินสะพัดกว่า 4.7 หมื่นล้าน

สนค. เผยผลสำรวจพฤติกรรมการเดินทาง-จับจ่ายช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ปีนี้ เผย 5 จังหวัดปลายทางยอดนิยม คาดทั้งสงกรานต์เงินสะพัดกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเดือน มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จำนวน 4,728 ตัวอย่าง ครอบคลุมประชาชนทุกอำเภอทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567

สงกรานต์ 2567

จากผลสำรวจพบว่า ประชาชนมีแผนการเดินทางในช่วงวันหยุดสงกรานต์ในปีนี้เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2565 อย่างชัดเจน โดยจังหวัดปลายทางยอดนิยม คือ ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองหลักที่จะเตรียมจัดงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567

ขณะที่การจับจ่ายใช้สอยในส่วนของกลุ่มกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นจากปี 2565 เล็กน้อย และมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านอาหารสูงที่สุด โดยคาดการณ์ยอดค่าใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 จะมีไม่ต่ำกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท

ด้านรายละเอียดผลการสำรวจ ประชาชนที่มีแผนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีสัดส่วน 25.81% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด แบ่งเป็นการเดินทางไปต่างจังหวัด 23.49% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากการสำรวจเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 10.68% โดยจังหวัดปลายทาง 5 อันดับแรก ใกล้เคียงกับผลสำรวจปี 2565 คือ ชลบุรี เชียงใหม่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น และภูเก็ต ส่วนการเดินทางไปต่างประเทศ มีเพียง 2.32%

ส่วนผู้ที่ไม่มีแผนเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในภาพรวมให้เหตุผล 3 อันดับแรก คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย 47.55% ไม่ชอบเดินทาง 26.46% และดูแลครอบครัว 19.10%

ทั้งนี้ ยานพาหนะที่นิยมใช้เดินทางไปต่างจังหวัด 3 อันดับแรก คือ รถส่วนตัว 76.03% ซึ่งได้รับความนิยมสูงในทุกระดับรายได้ รถทัวร์ 7.62% ซึ่งจะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 10,001–30,000 บาท/เดือน และเครื่องบิน 5.52% ซึ่งจะนิยมใช้ในกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท/เดือน

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ทางด้านวงเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายตลอดการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในภาพรวมประชาชนที่มีแผนเดินทางคาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 2,000–5,000 บาท/คน 36.17% ตามด้วยระหว่าง 5,001–10,000 บาท/คน 33.17% ระหว่าง 10,001–20,000 บาท/คน 15.93% และมากกว่า 20,000 บาท 6.51%

การพิจารณาตามระดับรายได้

  • กลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน  47.47% คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 2,000–5,000 บาท/คน
  • กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001–10,000 บาท 25.35% และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 10,001–30,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่ายระหว่าง 5,001–10,000 บาท 37.54%
  • กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 2,000–5,000 บาท/คน 36.68% และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 30,001–50,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่าย 5,001–10,000 บาท/คน  30.43%
  • กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 10,001–20,000 บาท/คน 26.81% และกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 50,000 บาท/เดือน คาดว่าจะใช้จ่าย 10,001–20,000 บาท/คน 23.91% รองลงมาคือกลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 5,001–10,000 บาท/คน 17.39%

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ระดับการใช้จ่ายที่สูงกว่า 10,000 บาท ร้อยละ 22.44 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2565 ร้อยละ 20.11 สะท้อนว่า การจับจ่ายใช้สอยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

shutterstock 1043972923

ในส่วนของประเภทค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 อันดับแรก คือ ค่าอาหาร  37.69% ส่วนหนึ่งคาดว่าเป็นผลจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง และระดับราคาที่ปรับลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566, ค่าเดินทาง 31.16% ซึ่งปรับลดลงจากการสำรวจเมื่อปี 2565 ค่อนข้างมาก และของฝาก 13.97% ปรับลดลงจากการสำรวจเมื่อปี 2565 ที่อยู่ที่ 16.31%

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายศาสนกิจ เหลือ 0.90% ลดลงค่อนข้างมากจากการสำรวจในปี 2565 ที่อยู่ที่ 3.26%

เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ เป็นโอกาสของผู้ประกอบการและผู้ที่ต้องการหารายได้เสริม ในการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์เล่นน้ำ ของฝาก และของที่ระลึกในสถานที่จัดงาน สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และริมเส้นทางถนนไปจังหวัดต่าง ๆ โดยคาดว่าจะเกิดการจับจ่ายใช้สอยและสร้างรายได้จำนวนมหาศาล

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการตรวจมาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิงที่สถานีบริการน้ำมันในจังหวัดต่าง ๆ แล้ว และจะตรวจสอบและติดตามสถานการณ์จำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์อย่างใกล้ชิด ทั้งในสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ สนามบิน รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยได้อย่างมั่นใจตลอดช่วงเทศกาลสงกรานต์ของปีนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo