Business

ปตท. ย้ำแผน Net Zero 2050 เร่งปลูกป่าเพิ่มล้านไร่ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ

ปตท. เดินหน้า Clean Growth ผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท. เดินหน้า Clean Growth ผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ทั้งนี้ ปตท. มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) เทียบกับปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) รวมถึงบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2040 (พ.ศ. 2583) และ บรรลุเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)

Net Zero

โดย ปตท. มี “แนวทางการดำเนินงาน 3P” เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินการของ ปตท. ดังนี้

  • Pursuit of Lower Emissions

การดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยงกับเป้าหมาย Clean Growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 30%

  • Portfolio Transformation

สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) เพิ่มสัดส่วน Green portfolio และบริหารจัดการ Hydrocarbon portfolio โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ การปรับเปลี่ยนการส่งก๊าซให้ลูกค้าในอนาคตจากก๊าซธรรมชาติเป็น LNG ทำให้โรงแยกก๊าซไม่ต้องดำเนินการแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นกระบวนการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของ ปตท.

  • Partnership with Nature and Society

การเพิ่มปริมาณการดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียวพร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าวิธีดังกล่าวจะสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง ปตท. มีเป้าหมายในการปลูกป่าใหม่เพิ่มเติม

สำหรับการปลูกป่าใหม่ (Reforestation) นั้น กลุ่ม ปตท. ลงนาม MOU การปลูกป่าเพิ่มจำนวน 2 ล้านไร่ (ปตท. ปลูกเอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในกลุ่มรวมอีก 1 ล้านไร่) ได้ Kick off โครงการ ณ แปลงปลูกป่า ปตท. ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อมและป่าลำนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2566

Net Zero

นอกจากนี้ ปตท. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้งานไฮโดรเจนในการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมถึงโอกาสในการสร้างธุรกิจไฮโดรเจน โดยที่ผ่านมา ปตท. ได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวในเทคโนโลยีไฮโดรเจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และในปี 2019 ปตท. ได้จัดตั้ง Hydrogen Thailand Club ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมและผลักดันในเรื่องเทคโนโลยีไฮโดรเจนให้กับประเทศไทย

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรดำเนินโครงการศึกษาและทดสอบการใช้งานไฮโดรเจนในภาคขนส่ง (Fuel Cell Electrical Vehicle (FCEV) Demonstration Project) โดยได้มีการจัดตั้งสถานีเติมไฮโดรเจนแห่งแรกในประเทศไทยที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และทดสอบการใช้งานของรถ FCEV จำนวน 2 คัน ในช่วงปี 2023-2024 ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากโครงการก็จะเป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนการใช้งานโฮโดรเจนในภาคขนส่งของประเทศต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK