Business

ประเมินส่งออกไทยปี 67 ขยายตัว 2% หลังผ่านจุดต่ำสุดปี 2566

ส่องตลาดส่งออกไทยปี 2567 คาดขยายตัวไม่เกิน 2% หลังไตรมาส 3 เติบโตต่อเนื่องจากต้นปีติดลบ จับตาปัจจัยท้าทายแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า

จบปี 2566 เริ่มต้นปี 2567 ภาคธุรกิจส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มสดใสขึัน หลังจากเริ่มกลับมาเป็นบวกต่อเนื่อง โดยเดือนตุลาคม 2566 เติบโต 2.6% กันยายน 2.1% เดือนพฤศจิกายน 2566 ขยายตัว 4.9%

ส่งออกไทย

ประเมินส่งออกไทยปี 2566 ดีสุด “ไม่ติดลบเพิ่ม”

ดังนั้น ส่งผลให้การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัว 1.5%และคาดว่า การส่งออกทั้งปีจะติดลบน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยจะสามารถอยู่ที่ติดลบไม่เกิน 1% หรือไม่ติดลบอยู่ที่ 0%

สำหรับปี 2567 นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าจะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา

หวังปี 2567 ขยายตัว 1.99-2%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ 1.99% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท

สำหรับการผลักดันการส่งออกที่ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายปรับส่งออกจากลบเป็นบวก ในช่วง 100 วัน ได้ดำเนินการรวม 73 กิจกรรม คาดการณ์สร้างมูลค่าการส่งออก 12,400 ล้านบาท แต่เกิดผลจริง 25,424.75 ล้านบาท

กีรติ รัชโน 1
กีรติ รัชโน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำแผนเร่งรัดการส่งออกระยะ 1 ปี ประกอบด้วยกิจกรรมทั้งหมด 417 กิจกรรม คาดการณ์มูลค่าส่งออก 6.57 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า ภาคส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่ำ เนื่องจากยังเผชิญแรงกดดันจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัว 2.5% ในปี 2567 จากที่คาดว่าจะหดตัว 1.5% ในปี 2566

ทั้งนี้ เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ เช่น วัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อานิสงส์จากการรักษาความมั่นคงทางด้านอาหาร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค (Regionalization) เป็นต้น การทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มจาก 1.3% ในปี 2566 เป็น 2.0%

ขณะที่ นายประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) มองว่า การส่งออกของไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วและจะเติบโตเป็นบวกได้ แม้ปัจจัยภายนอกจะกระทบรุนแรง คาดเดาได้ยาก โดยพร้อมที่จะเดินหน้าเติบโตอย่างต่อเนื่องในปี 2567

ชัยชาญ เจริญสุข
ชัยชาญ เจริญสุข

เราคาดว่าการส่งออกปีหน้า จะขยายตัวได้ราว 1-2% โดยมีสินค้าเกษตร อาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ทั้งนี้ต้องรักษาตลาดเดิมเร่งเสริมตลาดใหม่ ลดต้นทุนลงทุน เร่งทำเอฟทีเอ สร้างระบบเชื่อมต่อการขนส่งใหม่ๆ

อย่างไรก็ตาม ต้องรักษาตลาดเดิมเร่งเสริมตลาดใหม่ ลดต้นทุนลงทุน เร่งทำเอฟทีเอ สร้างระบบเชื่อมต่อการขนส่งใหม่ๆ

จับตาปัจจัย เศรษฐกิจโลก-เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ย

ส่วนปัจจัยภายนอกที่ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยโลกที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมทั้งกฎระเบียบทางการค้าต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTB)

ทั้งหมดนี้ ผู้ส่งออกของไทยจะต้องทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น ไม่เช่นนั้นสินค้าไทยก็จะไม่สามารถส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ หรืออาจส่งออกได้ แต่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าปกติ ซึ่งทำให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง

ส่วนปัจจัยในประเทศ ต้องติดตามสถานการณ์เอลนีโญ เนื่องจากจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo