Business

‘อนุชา’ เร่งเครื่องวางยุทธศาสตร์ ยกระดับสะพานปลา ฟื้นอุตสาหกรรมประมงไทย

“อนุชา” เตรียมฟื้นฟูยกระดับสะพานปลา พลิกฟื้นใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในโอกาสตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายแนวทางการขับเคลื่อนงานของ องค์การสะพานปลา (อสป.) ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทยให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ ด้วยการแก้ไขกฎหมายและการบังคับใช้ให้เหมาะสม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเลอย่างยั่งยืน

ยกระดับสะพานปลา

การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการประมงไทย ให้กลับมาเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศและประชาชน เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทางทะเล ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรของประเทศไทยและประชากรโลก

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อให้พี่น้องชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ผู้ประกอบการด้านการประมง สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และการทำการประมง ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากมาย ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ส่งเสริมการผลิตและการตลาดอย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นการเสริมสร้างยกระดับการพัฒนาประมงไทยอย่างครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

สำหรับองค์การสะพานปลา หรือ อสป. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อจัดระเบียบกิจการแพปลา และมีพระราชบัญญัติเพื่อควบคุมการดำเนินงานเป็นการเฉพาะ มีบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบาย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย

อนุชา
อนุชา นาคาศัย

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า เป้าหมายเชิงรุกของ อสป. คือ โครงการจัดตั้งศูนย์จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำและสัตว์น้ำแปรรูป ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ธุรกิจประมงมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างงาน สร้างรายได้ต่ออาชีพประมงและธุรกิจต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังรวมทั้ง  โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน ยกระดับชาวประมงพื้นบ้าน ฐานแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต  และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการบริหารจัดการฐานทรัพยากรทางเกษตรและระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการขยายตลาดการบริโภคสินค้าเกษตรและการผลิตอาหารปลอดภัย พัฒนาการเกษตรคุณภาพให้มีมูลค่าสูง สร้างความมั่นคงและความยั่งยืนทางการเงิน ยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา อสป. ประสบกับวิกฤติปัญหาทั้งเศรษฐกิจชะลอจากการระบาดของโควิด-19 ประกอบกับปัญหาการแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานไร้การควบคุม (IUU) ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้ต้องปรับโครงสร้างการทำงานหลังจากที่ขาดทุนมาหลายปี

อสป

ทั้งนี้ ต้องขอชื่นชม อสป. ที่สามารถฝ่าฟันวิกฤติทำกำไรกลับคืนมาได้ เชื่อมั่นว่า อสป. มีศักยภาพ ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้าประมงในตลาดโลก

ขณะที่การทำงานจะต้องปรับตัวให้ทันตามเทรนด์ของโลกยุคดิจิทัล หลังจากนี้ จะลงพื้นที่สำรวจว่าสามารถขยาย ฟื้นฟูยกระดับสะพานปลาให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ได้อย่างไร เพื่อสร้างองค์กรให้เข้มแข็งยั่งยืนและสร้างประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนเป็นการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดมูลค่าสูงสุด เพื่อยกระดับตลาดสินค้าสัตว์น้ำจากชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีมาตรฐานสากล ทั้งคุณภาพและราคา ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน

ในด้านการส่งเสริมอาชีพและพัฒนาการประมง อสป. ได้มีการขยายบทบาทการดำเนินงาน ทั้งการให้สินเชื่อเพื่อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์การประมง และให้ความช่วยเหลือแก่สถาบันประมง ชุมชนประมง เพื่อส่งเสริมฐานะและสวัสดิการของชาวประมง เป็นต้น

ข้อมูลจาก อสป. รายงานสถิติปริมาณสัตว์น้ำ ปี 2565 มีมูลค่า 10,082 ล้านบาท ปริมาณ 210,082 ตัน กำไร 24% ค่าใช้จ่าย 220 ล้านบาท รายได้ 244 ล้านบาท สถิติปริมาณสัตว์น้ำปี 2566 มีมูลค่า 7,876 ล้านบาท ปริมาณ 182,500 ตัน กำไร 43.11% ค่าใช้จ่าย 209.17 ล้านบาท รายได้ 252.28 ล้านบาท

สะพานปลา

แผนการดำเนินงานโครงการยกระดับสะพานปลาปี 2567

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมงให้ถูกสุขอนามัยได้รับมาตรฐานสากล

1. โครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคบ่อบำบัดน้ำเสียของอาคารสำนักงานสะพานปลากรุงเทพ

2. โครงการซ่อมบำรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสุขอนามัยสะพานปลาและท่าเทียบเรือประมง

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างศักยภาพการจัดหารายได้และขยายช่องทางในธุรกิจ

1. โครงการจัดทำแผนแม่บท (Master Plan) การพัฒนาพื้นที่สะพานปลากรุงเทพ

2. โครงการตลาดเช้าจำหน่ายสัตว์น้ำท่าเทียบเรือประมงปัตตานี ระยะที่ 2

3. โครงการพัฒนาพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการขององค์การสะพานปลาท่าเทียบเรือประมงภูเก็ต

4. โครงการศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าสัตว์น้ำด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์

5. แผนการหารายได้ของสำนักงานบริหารการตลาดและกิจกรรมสังคม

shutterstock 159565136

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ยกระดับชาวประมงและผู้ประกอบการให้มีความมั่นคงทางอาชีพประมง

1. โครงการสำรวจความพึงพอใจและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและลูกค้า

2. โครงการศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านและศูนย์จำหน่ายสินค้าประมงพื้นบ้าน

3. โครงการ FMO : BCG (กำจัดขยะ แหอวน พลาสติก และกล่องโฟม เพิ่มคุณค่าให้ทะเล สร้างมูลค่าแก่ชาวประมง)

4. โครงการสินเชื่อเครื่องมืออุปกรณ์ทำประมงและซ่อมแซมเรือประมง 5) โครงการตลาดประมงคุณธรรม สร้างคุณค่าที่ยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ 4 การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการสู่องค์กรที่ทันสมัย ด้วยโครงการพัฒนาระบบบริการทรัพยากรมนุษย์

นอกจากนี้ยังมีโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในอนาคต ได้แก่ 1. โครงการจำหน่ายน้ำมันราคาถูกสำหรับชาวประมง เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวประมง  2. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือประมงปัตตานีเป็นศูนย์อาหารทะเลฮาลาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo