ฉางอาน ออโต้ฯ ซื้อขายที่ดิน 250 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกเพื่อส่งออกทั่วโลก มูลค่าโครงการเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท
บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในเครือดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ประกาศลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งใหญ่กับบริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด หนึ่งในกลุ่มยานยนต์ชั้นนำ 4 กลุ่มของจีน จำนวน 250 ไร่ ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป บนพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
การซื้อขายที่ดินครั้งนี้ เพื่อสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โดยนับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) ครั้งสำคัญแห่งปี 2566 สะท้อนถึงศักยภาพและการบูรณาการด้านการส่งเสริมการลงทุนอันโดดเด่นของประเทศไทย และมาตรฐานการจัดการ นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป
นอกจากนี้ ยังเป็นอีกก้าวที่ยั่งยืนในการผลักดันให้ไทย ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรชั้นนำของโลก
นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฉางอาน ออโต้ฯ เซ้าท์อีส เอเชีย ได้ลงนามซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนจากบีโอไอในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
สำหรับเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากประเทศไทย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ ด้วยทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค
นิคมฯดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภคและบริการระดับเวิลด์คลาส รวมไปถึงการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง
นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทยและส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คันต่อปี
ขณะเดียวกัน ยังรวมถึงการจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในปี 2568 และเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย
ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปี ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
ที่สำคัญ ยังเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทยคือจุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ
การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1,440 ล้านดอลล่าร์ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่ผ่านมาบีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการจาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 7.25 แสนคันต่อปี
การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของฉางอาน ออโต้ฯ ครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- บีโอไอ เผย รัฐบาลจีนไฟเขียว ‘ฉางอัน’ ตั้งฐานผลิตรถยนต์ EV ในไทย ตั้งเป้า 1 แสนคันต่อปี
- Krungthai Compass ชี้ธุรกิจ ‘ยางรถยนต์ไฟฟ้า’ โตรับกระแส ‘รถยนต์ EV’ คาดปี 73 ส่งออก 7.6 หมื่นล้านบาท
- 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ สนใจลงทุน ‘อุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ EV’ ในไทย