Business

‘สุริยะ’ ยันรถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายใช้ต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุดแค่ 30 พ.ย. 67

“สุริยะ” เผยนโยบายค่ารถไฟฟ้าสีแดง-ม่วง 20 บาทตลอดสายวันแรก ประชาชนตอบรับดี ยืนยันเดินหน้าต่อเนื่อง ไม่ได้สิ้นสุดมาตรการแค่ 30 พฤศจิกายน 2567 แจงกำหนดเพื่อประเมินผลรายปี  

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวานนี้ (16 ตุลาคม 2566) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนนั้น

ทั้งนี้ จากการประกาศใช้มาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ในอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น รฟท. และ รฟม. ได้รายงานถึงผลการสอบถามความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ พบว่า ผู้โดยสารส่วนใหญ่ให้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงดึงดูดให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะระบบรางมากขึ้น

สุริยะ

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า จากการที่ ครม. อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า ทั้ง 2 สายสูงสุด 20 บาทตลอดสาย โดยระบุจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 นั้น ยืนยันว่า เมื่อครบกำหนดในช่วงวันดังกล่าว จะยังไม่ได้มีการยกเลิกมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย และจะใช้มาตรการนี้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือและลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน ตามนโยบาย Transport Future for All: คมนาคมแห่งอนาคต เพื่อประชาชนทุกคน

ส่วนการกำหนดระยะเวลาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ตามที่เสนอเรื่องต่อ ครม. นั้น ดำเนินการตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสาร และรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

สีม่วง

อย่างไรก็ตาม การเสนอต่ออายุมาตรการ 20 บาทตลอดสายในปีหน้า รัฐจะชดเชยเงินรายได้ในจำนวนที่ลดลง เนื่องจากจะมีปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงต้องประเมินผลมาตรการเป็นรายปี

การดำเนินงานดังกล่าว นับเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และยกกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo