Business

ไทย คว้าแชมป์ ‘ส่งออกสินค้าสร้างสรรค์-ลงทุนวิจัยพัฒนา’ ดัชนีนวัตกรรมโลกปี 66

​WIPO จัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกปี 2566 ไทยครองอันดับ 1 ของโลก การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ 2 ปีติด พร้อมคว้าแชมป์การลงทุนวิจัยและพัฒนา ด้านภาพรวมอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2566 (Global Innovation Index 2023 : GII 2023) โดยไทยถูกจัดอยู่อันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจทั่วโลก และอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle-Income) รองจาก จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และตุรเคีย

ดัชนีนวัตกรรมโลก

ทั้งนี้ มี 2 ตัวชี้วัดที่ไทยครองอันดับ 1 ของโลก ได้แก่ ด้านการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods Export) ซึ่งไทยครองอันดับ 1 ของโลกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน และด้านการลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยภาคธุรกิจ (Gross Expenditure on R&D (GERD) Financed by Business)

การคว้าแชมป์ใน 2 ตัวชี้วัดดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ไทยมีการนำนวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการในระดับสูง และตระหนักถึงความสำคัญของการทำ R&D เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับภาคธุรกิจ

ในรายงาน GII 2023 ไทยยังมีตัวชี้วัดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่น่าสนใจอีกหลายด้าน เช่น จำนวนคำขออนุสิทธิบัตรที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก จากเดิมอันดับ 8 ในปีที่ผ่านมา การใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา สูงเป็นอันดับ 16 ของโลก คงที่จากปีที่ผ่านมา

fyou

นอกจากนี้ ในเรื่องจำนวนคำขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย สูงเป็นอันดับ 32 ของโลก จากเดิมอันดับ 34 ในปีที่ผ่านมา จำนวนคำขอสิทธิบัตรผ่านระบบสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองในต่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty : PCT)  เป็นอันดับ 57 ของโลก จากเดิมอันดับ 62 ในปีที่ผ่านมา

ขณะที่รายได้เกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านทรัพย์สินทางปัญญา เป็นอันดับ 61 ของโลก จากเดิมอันดับ 64 ในปีที่ผ่านมา จำนวนคำขอสิทธิบัตรที่ยื่นโดยผู้มีถิ่นที่อยู่ในไทย เป็นอันดับ 71 ของโลก จากอันดับ 73 ในปีที่ผ่านมา เป็นต้น

ผลจากตัวชี้วัด GII ด้านทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีจุดเด่นที่ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมกันส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยนำไปสู่เป้าหมายในการนำพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้สำเร็จในอนาคต

วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์
วุฒิไกร ลีวีระพันธุ์

ในส่วนของกรม ยังได้มีการพัฒนาบริการออนไลน์ต่าง ๆ ตามนโยบาย SMART DIP เพื่อรองรับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การยื่นจดทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบ e-Filing ระบบตรวจสอบความเหมือนคล้ายเครื่องหมายการค้าด้วยภาพ ระบบจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแบบเร่งด่วน ระบบวิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีสิทธิบัตร เป็นต้น

การพัฒนาบริการต่าง ๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยสามารถจดทะเบียนและรับคำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาได้อย่างสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ภาคธุรกิจในยุคดิจิทัล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo