Technology

ไทย เบียดแซงเวียดนาม ขึ้นอันดับ 43 ดัชนีนวัตกรรมโลก จาก 132 ประเทศทั่วโลก

อว. เผยข่าวดี ไทยไต่อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก แซงเวียดนาม ขึ้นสู่อันดับ 43 จาก 132 ประเทศทั่วโลก ครองแชมป์ธุรกิจลงทุนวิจัยพัฒนา 2 ปีซ้อน

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2564 (GII 2021) ภายใต้ธีม ติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ปรับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2563

ดัชนีนวัตกรรมโลก

สำหรับการจัดอันดับ ดัชนีนวัตกรรมโลก เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรม เสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลา และการเปรียบเทียบเชิงแข่งขัน ทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก

สำหรับปีนี้ การที่ไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 และยังถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ที่อยู่อันดับ 8 มาเลเซีย อันดับ 36 และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44

thumbnail อันดับนวัตกรรมโลก 8

นอกจากนี้ ในด้านปัจจัยสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศ สำหรับการวิจัยและพัฒนา ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ ประเทศไทยยังคงสูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

 

ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่า ประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลก ภายในปี 2573

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การจัดอันดับ GII 2021 มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤติไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม

 ดัชนีนวัตกรรมโลก

ผลการจัดอันดับของไทยในดัชนีนวัตกรรมโลกที่น่าสนใจ ด้านอื่น ๆ มีดังนี้

  • ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 47
  • ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 44 ลดลงเป็นอันดับที่ 46
  • ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ปรับอันดับขึ้นจากอันดับที่ 79 เป็นอันดับที่ 60
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่ง ชาติ NIA
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่า การขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของไทย ต้องเร่งดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่

1. การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ

2. การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ

3. การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เป็นอุปสรรค

4. การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน

5. การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

6. การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค

7. การเตรียมความพร้อมต่อระบบนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo