Business

อสังหาฯ จีน ‘สะดุด’ หวั่นกระทบคนจีนเที่ยวไทยลดลง-ส่งออกงานเข้า

สนค. วิเคราะห์ปัญหาอสังหาฯ จีน ขาดสภาพคล่อง ทำเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว กระทบคนจีนเที่ยวไทย งานเข้าส่งออกเคมีภัณฑ์-เม็ดพลาสติก 

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค.ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบปัญหาสภาพคล่องในธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีน หลังจากที่บริษัท เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์จีน มีโครงการมากกว่า 1,300 โครงการ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจจีน และเป็นธุรกิจที่มีหนี้มากที่สุดในโลก เพิ่งยื่นขอล้มละลายในเดือน สิงหาคม 2566

อสังหาฯ จีน

นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีข่าวบริษัท คันทรี การ์เด้น (Country Garden) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของจีน มีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์ ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29% ของจีดีพีจีนมีปัญหา และส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจีนอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ ผลกระทบในภาคอสังหาริมทรัพย์ ไม่เพียงแต่กระทบต่อผู้ประกอบการ แต่ยังมีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของประชาชน เพราะกว่า 70% ของจำนวนประชากรที่อยู่ในเขตเมือง นิยมสร้างความมั่งคั่งด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไว้ เพื่อการลงทุนและเก็งกำไร

เมื่อราคาที่อยู่อาศัยลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ลงทุนจึงเกิดการขาดทุนกันถ้วนหน้า อีกทั้งยังสร้างผลกระทบต่อตลาดแรงงาน ภาคการก่อสร้างเป็นแหล่งจ้างงานกว่า 62 ล้านตำแหน่ง แรงงานอาจมีแนวโน้มถูกเลิกจ้างงาน

ขณะเดียวกันการจ้างงานใหม่หดตัว โดยเฉพาะการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ที่มีสถิติหดตัวสูงเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการลงทุนใหม่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงมาตั้งแต่ปี 2565 และปัจจุบันยังคงหดตัวต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดเดือนกรกฎาคม 2566 หดตัว 8.5% ตามความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยที่ลดลง

นอกจากนี้ ยังสร้างผลกระทบต่อภาคค้าปลีก โดยจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่รายงานภาวะเศรษฐกิจค้าปลีก พบว่า ภาคค้าปลีกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอสังหาริมทรัพย์อย่างยอดค้าปลีกในหมวดของตกแต่งบ้าน เฉพาะในช่วงเดือน มกราคม-กรกฎาคม 2566 หดตัว 7.3%

shutterstock 1785708689

ขณะเดียวกัน ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Barclays ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปี 2566 เหลือเติบโตเพียง 4.5% หลังจากประเมินแล้วว่าการใช้นโยบายการคลังและการเงินของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลจีนไม่ค่อยเห็นผลนัก ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2/66 ยังขยายตัวได้เพียง 0.8% จากไตรมาสที่ 1/66

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย พบว่า การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ได้ส่งผลกระทบต่อการบริโภค และการใช้จ่ายเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนที่ลดลง และส่งผลข้างเคียงมายังเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของไทย เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่เข้ามาในไทย

ในช่วงเวลาปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 11.1 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศจำนวน 5.3 แสนล้านบาท แต่ในช่วง 6 เดือนปี 2566 (ม.ค.-มิ.ย.) มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาในประเทศไทยสะสมช่วงครึ่งปีแรกเพียง 1.4 ล้านคนเท่านั้น

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ 1
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์

ส่วนภาคการส่งออก จะมีผลกระทบใน 3 ช่องทาง คือ

1. ผลกระทบจากกำลังซื้อของชาวจีนที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนต่อจีดีพีของจีนค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานขนาดใหญ่ มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคที่ลดลง โดยเฉพาะการบริโภคสินค้าที่มิใช่สินค้าจำเป็น

2. ผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าวัตถุดิบที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนมีเพียงบางรายการ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เช่น เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในงานก่อสร้าง และเม็ดพลาสติก ซึ่งมีจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 มีสัดส่วน 18% และ 29% ตามลำดับ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออก Top 10 ของไทย

ทั้งนี้ ในครึ่งปีแรกของปี 2566 สินค้าทั้งสองกลุ่มข้างต้นที่ส่งออกไปจีน หดตัว 20.9% และ 26.9% ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับภาคการก่อสร้าง เช่น เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องจักรกลที่ใช้ในการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก คาดว่าได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยถึงน้อยมาก เนื่องจากจีนไม่ใช่ตลาดส่งออกหลัก

 

3. ผลกระทบโดยอ้อมจากอิทธิพลด้านราคา เช่น เหล็กและเหล็กกล้า ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ด้วยเหตุผลที่จีนเป็นผู้บริโภคและผู้นำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ของโลก จึงมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวของราคาสินค้า

อีกทั้งไทยในฐานะเป็น Price taker การส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง จึงได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคา ที่มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนอยู่บ้าง โดยเฉพาะราคาเหล็กที่มีความอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างมากกว่าสินค้าอื่น ๆ

ดังนั้น ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการไทยคอยติดตามสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลค่อนข้างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับภาคการค้า จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนประมาณ 12% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจจีนย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการส่งออกสินค้าไทยอยู่ไม่น้อย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo