Business

ครม. ไฟเขียวแผนชำระค่าสิทธิ ‘แอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์’ กว่าหมื่นล้าน แบ่งจ่าย 7 งวด

ครม. เห็นชอบแผน กพอ. แก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ ให้เอกชนคู่สัญญาแบ่งชำระค่าสิทธิกว่า 1.1 หมื่นล้านได้ 7 งวด

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (27 มิถุนายน 2566) รับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

shutterstock 1493770259

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (โครงการฯ) ประกอบด้วย หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link: ARL)

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยมีแผนการแก้ปัญหา ดังนี้

1. หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ แอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์

จากเดิม เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท. ) ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเอกชนคู่สัญญา ต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท

การแบ่งชำระค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี

ทั้งนี้ การแบ่งชำระ 7 งวดดังกล่าว มีความเหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับ (จำนวน 474.44 ล้านบาท) ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์ โควิด-19 (จำนวน 495.27 ล้านบาท)

ขณะที่เอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และ/หรือ กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา

IMG 65738 20230304092934000000
อนุชา บูรพชัยศรี

เงื่อนไขหลังปรับวิธีการชำระเงิน

  • กรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯ
  • กรณีเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด- 19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและรายรับ ของเอกชนคู่สัญญา หากไม่มีการแก้ไขปัญหา อาจส่งผลต่อการให้บริการ เดินรถและการบำรุงรักษา ARL ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการฯ ต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย

2. การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงิน

โดยที่สัญญาร่วมลงทุนฯ ยังไม่มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรง ต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ส่งผลให้โครงการไม่มีความเหมาะสมทางการเงิน (Not Bankable)

แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุน ของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญา กรณีเกิดเหตุสุดวิสัย และเหตุผ่อนผัน อันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น โรคระบาด หรือโรคติดต่ออันตราย ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

shutterstock 1380003062

ดังนั้น เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง

(1) เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัย และเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฯ

(2) เพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญา เพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัย และเหตุผ่อนผันโดยเฉพาะ ที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มีหน้าที่ ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best effort) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับ จากการแก้ไขปัญหาโครงการฯ จะทำให้บริการ โครงการ ARL สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โดยเอกชนคู่สัญญา สามารถชำระค่าสิทธิ ARL เพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ต่อไปได้

ขณะเดียวกัน จะทำให้มีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผัน และเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เพื่อให้โครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามสัญญาร่วมลงทุนฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo