Business

คนไทยยุคดิจิทัลไลฟ์ ใช้โซเชียล 52.3 ล้านคน ดันตลาดอีคอมเมิร์ซโตต่อ

Krungthai Compass เปิดสถิติคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 61.2 ล้าน ใช้โซเชียลมีเดียแตะ 52.3 ล้านคน หนุนตลาดอีคอมเมิร์ซพุ่ง 6.94 แสนล้าน

Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 61.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.7 ล้านคน จาก 47.5 ล้านคนในช่วง 5 ปีก่อนหน้า และมีผู้ใช้โซเชียลมีเดียถึง 52.3 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในรอบ 5 ปี

ตลาดอีคอมเมิร์ซ

การใช้งานอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น มีแรงขับเคลื่อนหลักจาก ผู้ใช้บริการภาคเอกชนที่มีการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากขึ้น และนโยบายของภาครัฐ อาทิ โครงการเน็ตชายขอบ ที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนอกเหนือเขตเมืองให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ไทยมีความเร็วอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับ 4 ของโลก สำหรับ Fixed Broadband Internet และอันดับ 15 สำหรับ Mobile Internet

ความเร็วเน็ต

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก Ookla ผู้ให้บริการด้านการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ต ระบุว่าประเทศไทยมีความเร็วเฉลี่ยในการดาวน์โหลดข้อมูลด้วย Fixed Broadband เร็วที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก เป็นรองเพียง ชิลี จีน และสิงคโปร์

สำหรับการใช้งานโซเชียลมีเดียของคนไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 51 ล้านคนในปี 2562 มาอยู่ที่ 52.3 ล้านคนในปี 2566 หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด

ใช้งานโซเชียล

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดีย เป็นสัดส่วนของผู้หญิง 52.3% และผู้ชาย 47.7% แตกต่างจากในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมาที่สัดส่วนใกล้เคียงกัน

ขณะที่ Facebook และ Line ยังคงเป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมของคนไทย โดย Tiktok เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา และพบว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียในช่วงอายุ 34-44 ปี 45-54 ปี และ 55 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โซเชียล 5 ปี

จากพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ยังส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ขยายตัวต่อเนื่องปีละ 12.4% มีมูลค่าสูงขึ้นจาก 1.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 มาอยู่ราว 2.7 หมื่นล้านบาท ในปี 2565

ตัวเลขดังกล่าว สวนทางกับการโฆษณาผ่านช่องทางออฟไลน์ที่มีมูลค่าลดลงเฉลี่ยปีละ 3% สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การโฆษณาที่ผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น

เงินโฆษณา

นอกจากนั้น ยังพบว่า คนไทยยังคงนิยมการซื้อสินค้าและบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยประเมินว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในช่วงปี 2566-2567 จะมีมูลค่า 6.34-6.94 แสนล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 6%

ส่วนหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย

อีคอมเมิร์ซแยกหมวด

1. กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคล ซึ่งครอบคลุมสินค้าในหมวดความงาม และสุขภาพ อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม เครื่องสำอาง วิตามิน อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดครัวเรือน โดยมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2562 มาอยู่ที่ 1.39 แสนล้านบาทในปี 2565

2. กลุ่มเครื่องดื่ม มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากราว 2.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 มาอยู่ที่ 1.26 แสนล้านบาทในปี 2566

3. กลุ่มอาหาร มียอดขายเพิ่มขึ้นจาก 1.15 หมื่นล้านบาทในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 5.5 หมื่นล้านบาทในปี 2566

4. กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ พบว่าแม้ยอดขายจะขยายตัวตามตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ขึ้นแต่กลับมีส่วนแบ่งตลาดในช่วง 5 ปีที่หลังที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึง 18%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo