Finance

ภาษีอีคอมเมิร์ซ 2565 รวมทุกเรื่องที่คนค้าขายออนไลน์ต้องรู้!!

ยุคที่ค้าขายออนไลน์เฟื่องฟู ตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สิ่งที่แม่ค้าออนไลน์ รวมทั้งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องรู้คือ การเสียภาษีขายของออนไลน์ หรือภาษีอีคอมเมิร์ซ

ผู้ประกอบการ e-Commerce ที่ขายสินค้าหรือบริการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ มีสิทธิและหน้าที่ในการเสียภาษีเช่นเดียวกับผู้ประกอบการอื่น ๆ โดยเป็นหนึ่งในภาษีเงินได้ ที่ถูกจัดอยู่ในเงินได้ประเภทที่ 8 คือเงินได้จากการค้าขาย โดยจะมีการคำนวณเป็นสองประเภท คือ

ภาษีอีคอมเมิร์ซ

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไปและมีรายได้เกิดขึ้น ตามเกณฑ์ที่กำหนดโดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด

สำหรับแม่ค้าออนไลน์ ที่มีฐานะเป็นบุคคลธรรมดา เมื่อมีรายได้จาการขายของออนไลน์ตั้งแต่ 6 หมื่นบาทต่อปี จะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

วิธีการคำนวณภาษี

สามารถนำรายได้มาหักค่าใช้จ่าย 2 แบบ ได้แก่ การหักค่าใช้จ่ายตามจริง และแบบเหมา 60%

  • หักค่าใช้จ่ายตามจริง

เหมาะกับแม่ค้าออนไลน์ที่มีต้นทุนของสินค้าสูง เพราะจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง ซึ่งวิธีนี้ต้องจัดเก็บรวบรวม บัญชีรายรับรายจ่าย พร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ ไว้ให้ครบถ้วน เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบมื่อต้องยื่นภาษี

  • หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60%

เหมาะกับแม่ค้าออนไลน์ที่มีกำไรมาก และมีข้อดีคือ ไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใด ๆ ให้สรรพากร ขณะที่แม่ค้าออนไลน์จะได้ประโยชน์ทางภาษีจากส่วนต่างของต้นทุนที่แท้จริง กับค่าใช้จ่ายแบบเหมา

shutterstock 1908264283 2 2

การยื่นภาษี

ภาษีที่ต้องยื่นสำหรับแม่ค้าออนไลน์ที่เป็นบุคคลธรรมดา คือ คือ ภ.ง.ด. 94 และ ภ.ง.ด. 90 โดยจะต้องยื่นภาษีตามที่กรมสรรพากรกำหนด ดังนี้

  • รอบแรก ยื่น ภ.ง.ด. 94 หรือการยื่นภาษีครึ่งปี ช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี โดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน มาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94
  • รอบที่สอง ยื่น ภ.ง.ด. 90 หรือการยื่นภาษีปลายปี ช่วงเดือนมกราคม-มีนาคมของทุกปี โดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล

เป็นภาษีที่จัดเก็บจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญ และบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี

แม่ค้าออนไลน์ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลทั้ง ห้างร้าน บริษัท จะต้องมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้แบบหักตามจริงเท่านั้น โดยต้องเก็บหลักฐานค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายไว้เพื่อเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ

ภาษีอะไรบ้างที่ต้องยื่น

  • รอบแรก ยื่น ภ.ง.ด.51 หรือการยื่นภาษีครึ่งปี ช่วง กรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี โดยนำเงินได้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายนมาแสดงในการยื่นภาษี ตามแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.51
  • รอบที่สอง ยื่น ภ.ง.ด.50 โดยนำเงินได้ทั้งปี มากรอกในแบบฟอร์ม ภ.ง.ด.50 ยื่นภายในเดือนพฤษภาคมของปีถัดไป

shutterstock 2173814509

ค้าขายออนไลน์แบบไหน ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ผู้ที่ค้าขายออนไลน์ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นภาษีทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป รวมทั้งต้องออก ใบกำกับภาษี ให้กับลูกค้าด้วย

สืบเนื่องจากการจัดเก็บภาษีจากการค้าดิจิทัลของผู้ประกอบการต่างประเทศ ที่เริ่มจัดเก็บเมื่อ 1 ตุลาคม 2564 ให้ผู้ประกอบการและอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในต่างประเทศ ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีรายได้จากการให้บริการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี

สำหรับธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียนภาษี และดำเนินการทางภาษี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์ ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกมส์ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ

shutterstock 580499569 1

ข้อควรรู้ของภาษีอีคอมเมิร์ซ

กรมสรรพากร จะรู้ได้อย่างไร ว่ามีการขายของออนไลน์เกิดขึ้น ในปัจจุบันมีกฎหมายออกมารองรับทำให้ทางสถาบันการเงินต้องมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันว่า (e-Payment) ให้กับทางกรมสรรพากรตรวจสอบ

เงื่อนไขการตรวจสอบบัญชี

  • เมื่อมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป ไม่ว่าจะมียอดรวมทั้งหมดกี่บาทก็ตาม
  • ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน 400 ครั้งขึ้นไป และมียอดเงินรวมกันเกิน 2 ล้านบาท

ข้อมูลที่กรมสรรพากรจะได้

  • เลขประจำตัวประชาชน
  • ชื่อ สกุล
  • เลขบัญชีเงินฝาก
  • จำนวนครั้งของการฝากหรือโอน
  • ยอดรวมจากการฝากหรือโอน

เตรียมพร้อมยื่นภาษีอีคอมเมิร์ซ

  • บันทึกทุกอย่าง ทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อสามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีรายรับรายจ่ายประเภทใด อย่างไรบ้าง
  • ไม่ทิ้งหลักฐานที่เกี่ยวกับการค้าให้หายไป เมื่อทางกรมสรรพากรมีคำถามเกี่ยวกับรายรับรายจ่าย นอกจากจะได้เห็นบันทึกรายรับรายจ่าย ยังมีหลักฐานทางธุรกรรมเพื่อยืนยันว่าเราได้ดำเนินการโอนรับ จ่าย หรือลงทุนตามจริงด้วย
  • ติดตามข่าวการเงิน โดยเฉพาะด้านภาษีที่มีการอัปเดตในแต่ละปีตามการไหลเวียนของเงินในประเทศและต่างประเทศ แต่หากไม่มีความรู้ด้านการเงินอาจทำให้พลาดเสียเงินมากเกินความจำเป็นหรือจ่ายภาษีซ้ำซ้อนได้
  • หาความรู้เกี่ยวกับภาษีเงินได้ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถจัดการรายรับรายจ่ายในแต่ละปี รู้ว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ลดหย่อนภาษีได้ด้วยวิธีใดบ้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo