Business

สร้างอัตลักษณ์ ใส่ดีไซน์ ดัน ‘ผ้าไหมไทยร่วมสมัย’ บุกตลาดโลก

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งเป้าดัน “ผ้าไหมไทยร่วมสมัย” บุกตลาดโลก เจาะคนรุ่นใหม่-วัยทำงาน ดึงอัตลักษณ์-ดีไซน์ใส่สินค้า เพิ่มความหรูหรา คุณภาพสูง

นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (สสท.) ดำเนินการยกระดับพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและผ้าพื้นเมือง

ผ้าไหมไทยร่วมสมัย

ทั้งนี้ เป็นตามยุทธศาสตร์กระทรวงอุตสาหกรรมในการเสริมสร้างศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอด้วยการออกแบบเชิงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมสู่อีสานแฟชั่น

โครงการดังกล่าว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562-2565 เกิดผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายใหม่กว่า 122 ลายรวมทั้งเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับ (Accessories) อีกกว่า 108 ผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง สร้างโอกาสทางการตลาด ในผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบบใหม่ และมีการขยายกลุ่มตลาดใหม่

ณัฏฐิญา เนตยสุภา
ณัฏฐิญา เนตยสุภา

นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาผู้ประกอบการผ้าไหม และผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจผ้าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กว่า 1,618 คน สร้างรายได้ สร้างงานให้ชุมชน รวมทั้งสร้างโอกาสทางการตลาด และสร้างยอดขายในประเทศกว่า 6,635,456 บาท (เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาใหม่)

โครงการพัฒนาผ้าไหมไทยร่วมสมัย (Premium Thai Silk) ประจำปี 2566 ยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาเทคนิคการผลิตผ้าไหมในรูปแบบใหม่ ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 50% ให้กับผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมขิด ผ้าไหมยกดอก ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าไหมบาติก และผ้าไหมแต้ม

ผ้าไหม ปก

ทั้งนี้ ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ให้ผลิตภัณฑ์มีความหรูหราและคุณภาพสูง (Premium & High Quality) มีลวดลายที่ประณีตสวยงาม (story-material-look & feel) ขณะเดียวกันมุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในระดับพรีเมี่ยม ด้วยการสร้างและนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยลงบนผืนผ้าให้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

แนวทางการพัฒนาในปีนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้จำนวน 24 ผลิตภัณฑ์ โดยเน้นการออกแบบและผลิตผ้าไหมร่วมสมัยแบบใหม่ ผสมผสานการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและแนวโน้มของตลาด ควบคู่กับการพัฒนาการผลิตและการนำเทคนิคใหม่ ๆ เข้าไปใช้ในการทอผ้าไหม

ผ้าไหม3

ขณะเดียวกัน ยังมีการยกระดับผู้ประกอบการสิ่งทออีกจำนวน 8 ราย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ทั้งในด้านการออกแบบและการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปสินค้า และการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงานได้

เราเชื่อว่าผ้าไหมไทย ไม่ได้มีไว้สำหรับผู้สูงอายุหรือวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ก็สามารถสวมใส่ได้เช่นกัน

ดังนั้น หากมีการนำอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมมาออกแบบให้ทันสมัย สวยงาม ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยในปี2566 มีเป้าหมายในการขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อิตาลี

ผ้าไหม3

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สาขาสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และผ้าไหมพื้นเมือง ยังคงเป็นกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่

  • จังหวัดขอนแก่น: กลุ่มผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติบ้านหนองหญ้าปล้อง (ผ้าไหมอีรี่มัดหมี่) วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย (ผ้าไหมแต้ม)
  • จังหวัดนครราชสีมา: กลุ่มหัตถกรรมผ้าไหมบ้านดู่ (ผ้าไหมมัดหมี่)
  • จังหวัดหนองบัวลำพู: กลุ่มทอผ้าแม่เอื้อมคำ by เมเม่ (ผ้าไหมขิด)
  • จังหวัดกาฬสินธุ์: กลุ่มสตรีสหกรณ์บ้านโพนแพรวา (ผ้าไหมแพรวา)
  • จังหวัดสุรินทร์: กลุ่มสตรีทอผ้าไหมลายยกดอกบ้านดู่นาหนองไผ่ และกลุ่มจันทร์หอม (ผ้าไหมยกดอก)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo