Business

กระทรวงแรงงาน เสนอ ‘ตรวจประวัติอาชญากรรม’ แรงงานกัมพูชา ก่อนเดินทางเข้าไทย

ไทย หารือ กัมพูชา เสนอ “ตรวจประวัติอาชญากรรม” แรงงาน ก่อนเดินทางเข้าไทย ยกระดับตามมาตรฐานสากล แก้ปัญหาค้ามนุษย์

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทย กับนายเส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงานและฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงาน แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานกัมพูชามาทำงาน

ตรวจประวัติอาชญากรรม

โดยสาระสำคัญของการประชุมระดับวิชาการกัมพูชา – ไทยในครั้งนี้ ฝ่ายไทยได้เสนอประเด็นต่อที่ประชุม เพื่อพิจารณาในเรื่องการออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชาในประเทศไทย ซึ่งในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายหลังวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารประจำตัวถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

และในกรณีที่ทางการกัมพูชาประสงค์ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล เพื่อออกเอกสารประจำตัวให้แก่คนต่างด้าว ให้มีหนังสือร้องขอผ่านช่องทางการทูต และสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยมีระยะเวลาดำเนินการจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2566

ทั้งนี้ ณ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีแรงงานกัมพูชาดำเนินการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 กุมพาพันธ์ 2566 จำนวนทั้งสิ้น 265,000 ราย ในจำนวนนี้ มีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มีเอกสารประจำตัว

ตรวจประวัติอาชญากรรม

เสนอตรวจประวัติอาชญากรรมตรวจสุขภาพ ก่อนเข้าไทย

โดยฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายกัมพูชาเร่งรัดการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดเก็บข้อมูลแรงงาน การออกเอกสารประจำตัวให้แก่แรงงานกัมพูชา เพื่อให้แรงงานสามารถมีเอกสารประจำตัวภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 และได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ

ทางการไทยยังเสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไขบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (Agreement) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ในประเด็นการกำหนดให้ตรวจประวัติอาชญากรรมและการตรวจสุขภาพในประเทศต้นทาง ก่อนที่แรงงานจะเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย

และบทเฉพาะกาลที่ฝ่ายไทยเสนอเพิ่มเติมเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อนโยบายและประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานของทั้งสองประเทศ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางปกติได้ และหากอนาคตเกิดวิกฤตการณ์ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดส่งแรงงานมีข้อขัดข้อง จึงเสนอให้เพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อที่จะได้บริหารจัดการได้ทันท่วงที

ตรวจประวัติอาชญากรรม

ยกระดับตามมาตรฐานสากล แก้ปัญหาค้ามนุษย์

ผลจากการประชุมระดับวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความร่วมมือและข้อตกลงเกี่ยวกับการจ้างแรงงานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจะเป็นการอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนแก่แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ได้เข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง ได้รับการดูแลคุ้มครองตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้าง/ผู้ประกอบการในประเทศไทย รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ขณะที่นายเส็ง ศักดา (H.E.Seng Sakda) อธิบดีกรมแรงงานและฝึกอาชีพ กระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กล่าวว่า ทางการไทยได้อำนวยความสะดวกดูแลเพื่อให้แรงงานกัมพูชาได้กักตัวตามมาตรการสาธารณสุข ทั้งก่อนและหลังเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งการตรวจคัดกรองโควิดและฉีดวัคซีนให้แรงงานกัมพูชาที่ไปทำงานในประเทศด้วย ซึ่งทางการกัมพูชาต้องขอขอบคุณรัฐบาลไทยและกระทรวงแรงงานที่ดูแลแรงงานกัมพูชาเป็นอย่างดี

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo