Business

กรมการจัดหางาน กวาดล้าง ‘เพจปลอม’ รับสมัครงานทางโซเชียล ปี 66 ดำเนินคดีแล้ว 84 ราย เสียหาย 18.4 ล้าน

กวาดล้าง “เพจปลอม” ใช้ “LOGO กรมการจัดหางาน” รับสมัครงานทางโซเชียล ปี 66 ดำเนินคดีแล้ว 84 ราย มูลค่าความเสียหาย 18.4 ล้านบาท

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมากรมการจัดหางานพบเพจปลอม  ที่มีการนำตราสัญลักษณ์หรือโลโก้ กรมการจัดหางาน ไปใช้สร้างความน่าเชื่อถือประกาศรับสมัครงานจำนวนมากทางสื่อสังคมออนไลน์ (เฟซบุ๊ก, ไลน์, อินสตาแกรม, ทวิตเตอร์, ยูทูป )

โดยส่วนใหญ่จะมีลักษณะคล้ายกันคือ เป็นงานอิสระ สามารถทำงานที่บ้านได้ และมีรายได้ดี รวมทั้งการประกาศรับสมัครคนไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยอ้างว่าจัดส่งผ่านกรมการจัดหางาน ซึ่งทั้งหมดไม่เป็นความจริง หากหลงเชื่ออาจทำให้เสียทรัพย์ หรือโดนรีดข้อมูลส่วนบุคคลนำไปใช้ในทางมิชอบ

เพจปลอม

ปี 66 ดำเนินคดีแล้ว 84 ราย

เฉพาะปีงบประมาณ 2566 กรมการจัดหางานมีการดำเนินคดีสาย/นายหน้าเถื่อนแล้วถึง 84 ราย พบการหลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 264 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 18,585,242 บาท

ทำให้กรมฯ เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการหลอกลวงทางสื่อโซเชียลมีเดียยิ่งขึ้น โดยมีการตรวจสอบแล้วรวม 93 เรื่อง ส่วนใหญ่มาจากการหลงเชื่อสาย-นายหน้าจัดหางานเถื่อนที่อ้างว่าสามารถพาไปทำงานต่างประเทศได้ หรือถูกหลอกลวงไปทำงาน โดยแอบอ้างโลโก้กรมการจัดหางาน จึงดำเนินคดีข้อหาโฆษณาจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 66 แห่งพรบ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และดำเนินคดีผู้แอบอ้างใช้โลโก้กรมการจัดหางานต่อไป

เพจปลอม

แนวทางจัดการเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพ

นายไพโรจน์ กล่าวต่อไปว่า กรมการจัดหางานมีวิธีตอบโต้และเอาผิดกลุ่มมิจฉาชีพอย่างทันทีทันใด โดยดำเนินการ 3 ด้าน คือ

  1. ตรวจสอบ เฝ้าระวังและตอบโต้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่โพสต์ชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยด้วยวิธีผิดกฎหมาย โดยทันทีที่พบเห็น ชุดเฝ้าระวังจะนำข้อความแจ้งเตือนที่กรมการจัดหางานได้จัดทำขึ้น (แบนเนอร์โฆษณาสื่อออนไลน์) ไปโพสต์โต้ตอบใต้โพสต์ดังกล่าวทันที เพื่อให้ประชาชนรู้ว่าโพสต์ดังกล่าวไม่เป็นความจริง
  2. ประสานงานกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย หรือ Anti Fake News เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบภายใน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่เกิดจากความเข้าใจผิดและนำข่าวที่ไม่ถูกต้องไปเผยแพร่ต่อ
  3. การดำเนินการของฝ่ายกฎหมาย ของกรม ฯ ที่ส่งเรื่องดำเนินคดีไปยังศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ และกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดจำนวน 8 คดี

สำหรับผู้ที่นำเข้าข้อมูลเท็จ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษจําคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พ.ศ. 2482 ระบุว่า ห้ามมิให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายราชการ เว้นแต่หน่วยราชการที่กำหนดเครื่องหมายนั้นจะอนุญาต และ ห้ามมิให้ผู้ใดปลอมหรือเลียนเครื่องหมายราชการ ไม่ว่าจะเป็นสีใด หรือทำด้วยวิธีใด ๆ หรือทำให้ปรากฏที่วัตถุหรือสินค้าใดๆ ก็ตาม หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2,000 บาท

เพจปลอม

ระวังถูกหลอก – หางาน ใช้บริการ ไทยมีงานทำ

ทั้งนี้ หากพบเห็นประกาศเชิญชวนสมัครงานทางสื่อโซเชียล และไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนผู้โพสต์ได้ เช่น ไม่มีรูปภาพจริงเจ้าของโพสต์ มีการนำตราของหน่วยงานราชการมาใช้ประกอบในการโพสต์เชิญชวน ให้สันนิษฐานเป็นลำดับแรกว่าท่านกำลังถูกหลอกลวง โปรดอย่าหลงเชื่อ

ซึ่งหากเป็นตำแหน่งงานในต่างประเทศ ต้องโพสต์โดยบริษัทหางาน ซึ่งขออนุญาตโฆษณารับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศจากกรมการจัดหางานแล้วเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถกระทำการได้

ผู้ที่ต้องการมีงานทำ สามารถใช้บริการผ่านเว็บไชต์ ไทยมีงานทำ.doe.go.th หรือทาง Mobile Application “ไทยมีงานทำ” หรือติดตามข่าวสารของกรมการจัดหางานได้ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo