Business

เปิดสถิติ 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เกิดเพลิงไหม้สูงสุด ‘สุริยะ’ ห่วงอัคคีภัยช่วงฤดูร้อน สั่งเฝ้าระวังป้องกัน

“สุริยะ” ห่วงใยโรงงาน เน้น 8 กลุ่มอุตสาหกรรม เพลิงไหม้สูงปีที่ผ่านมา ให้เฝ้าระวังอัคคีภัยช่วงฤดูร้อน สั่งการกรมโรงงานอุตสาหกรรมเตรียมรับมือ 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนเป็นช่วงที่อากาศแห้ง ทำให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย จึงขอให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานทุกประเภท โดยเฉพาะใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งมีสถิติเกิดเหตุเพลิงไหม้สูงในปีที่ผ่านมา ระมัดระวัง ตรวจสอบ ตรวจตราอุปกรณ์เครื่องจักรให้พร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย รวมถึงการจัดเก็บผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย ต้องมีความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ หากเกิดเหตุขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ

อัคคีภัยช่วงฤดูร้อน

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เตรียมมาตรการรองรับการเกิดอัคคีภัยช่วงฤดูร้อน โดยการจัดทำข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง และแบบตรวจสอบและประเมินตนเองด้านอัคคีภัย (Self Checklist)

นอกจากนี้ ให้รณรงค์การป้องกันอัคคีภัยในช่วงฤดูร้อน ให้โรงงานได้ตระหนักถึงความปลอดภัยของโรงงาน ลดผลกระทบต่อชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย MIND ที่เน้นสร้างความเชื่อมั่นและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของอุตสาหกรรม

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ จากประกาศของ กรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงถึง 40-43 องศาเซลเซียส เป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอัคคีภัย

ไฟไหม้โรงงาน

ทั้งนี้จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุปี 2565 พบว่าอุบัติเหตุในโรงงานใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม กว่า 76% เป็นการเกิดเพลิงไหม้ 81 ครั้ง มากที่สุดในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และเกิดมากสุดในอุตสาหกรรมพลาสติก โฟม กระดาษ ยาง 26% อุตสาหกรรมสิ่งทอและเส้นใย 14% อุตสาหกรรมโกดังและคลังสินค้า 14% อุตสาหกรรมอาหาร 8% อุตสาหกรรมกากหรือขยะ 6% อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ 6% อุตสาหกรรมสี ไวไฟ 4% และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมี สารเคมี 3% ตามลำดับ

กรอ. จึงขอความร่วมมือ ให้โรงงานจัดเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย ดำเนินการตรวจสอบโรงงานตามแบบ Self Checklist และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้ง โดยตรวจสอบ บำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และสายไฟฟ้า ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยเป็นประจำ

ขณะที่การก่อสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซม อาคารหรือเครื่องจักร ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานที่มีการเชื่อมตัด หรือเจียรชิ้นงานหากมีการเกิดประกายไฟหรือสะเก็ดไฟ จะต้องมีวัสดุหรืออุปกรณ์ทนไฟเพื่อควบคุม การตรวจสอบการรั่วไหลของข้อต่อและวาล์ว หากพบว่ามีการไหลของแก๊สจากถังแก๊สให้ทำการปิดวาล์วและหยุดการทำงานที่ใช้ไฟในบริเวณนั้น พร้อมแก้ไขให้อยู่ในสภาพปลอดภัยทันที

จุลพงษ์ ทวีศรี
จุลพงษ์ ทวีศรี

สำหรับการจัดเก็บและการปฏิบัติงานอื่น ๆ เช่น การจัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดไฟได้ง่าย ควรจัดเก็บให้เป็นสัดส่วน ในพื้นที่ถ่ายเทอากาศได้ดี ไม่อยู่ใกล้บริเวณที่อาจมีประกายไฟหรืออุณหภูมิสูง และจัดเตรียมอุปกรณ์ดับเพลิงให้พร้อมใช้งาน

กรอ. ขอเน้นย้ำให้โรงงานเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ และจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจโรงงาน ตามแผนปฏิบัติการเป็นระยะ เพื่อป้องกันเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น ลดความสูญเสียของภาคอุตสาหกรรมและชุมชนจากอัคคีภัยให้มากที่สุด

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบ Self Checklist และข้อปฏิบัติในการป้องกันอัคคีภัยในโรงงานช่วงฤดูแล้งได้ที่ http://reg3.diw.go.th/safety/บทความ/ป้องกันระงับอัคคีภัย/

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo