Business

พัฒนาที่ดินจุฬาฯ ‘สยาม-สามย่าน’ 385 ไร่ เปิดโฉมใหม่ ปี 63

พื้นที่ใจกลางเมืองย่านปทุมวัน ภายใต้การครอบครองของ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” รวม  1,153 ไร่ ในปัจจุบันแบ่งการใช้ประโยชน์เป็น 3 ส่วนหลัก คือ  พื้นที่การศึกษา 637 ไร่  พื้นที่พาณิชย์ 385 ไร่  และพื้นที่ราชการยืมและเช่าใช้ 131 ไร่

การบริหารที่ดินดำเนินการโดย สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU)  ภายใต้หลักการขับเคลื่อนการใช้พื้นที่  3 ด้าน คือ  Learning Style สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้และการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกวับ  Living Style ส่งเสริมให้เกิดรูปแบบที่พักอาศัยในเมืองและมีคุณภาพชีวิตที่ดี  และ Life Style ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายทุกรูปแบบการใช้ชีวิตตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ด้วย “ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้” รองรับการใช้ชีวิตในทุกเจเนอเรชั่น

ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล
ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล (ภาพจากเฟซบุ๊ก PMCU)

ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองอธิการบดีด้านการจัดการทรัพย์สินและนวัตกรรม สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ดินจุฬาฯ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา PMCU ได้จัดทำแผนแม่บทและเป็นผู้วางแนวคิดการพัฒนาโครงการในพื้นที่ต่างๆ  โดยเฉพาะพื้นที่เชิงพาณิชย์ 385 ไร่

ซึ่งการพัฒนาพื้นที่แต่ละโครงการ จะกำหนดคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใช้งานแบอเนกประสงค์ (Multi-Use) พื้นที่ค้าปลีก สำนักงาน ที่อยู่อาศัย  การพัฒนาทุกพื้นที่ จะต้องมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนและตอบโจทย์สร้างคุณค่าเพิ่มให้สังคมไปพร้อมกัน

“วันนี้พื้นที่ จุฬาฯ ไม่ได้มองเรื่องการสร้างรายได้เชิงตัวเลขอย่างเดียว  แต่ต้องมองด้วยว่าสิ่งที่จะสร้างขึ้นมาเป็นที่ต้องการของสังคมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สังคมหรือไม่”

แผนแม่บทใหม่  PMCU ต้องเริ่มคิดก่อนว่าสังคมต้องการพื้นที่ประเภทใด  จากนั้นนำมาวางแนวคิด และเปิดรับฟังความเห็นจากนักลงทุนที่สนใจ  หากเห็นตรงกันและเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ  การดำเนินงานต่อไปจะมีทั้งให้เช่าพื้นที่และร่วมลงทุน ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน  หากมีงบลงทุนสูงสัญญาเช่าจะเป็นระยะยาว แต่หากลงทุนไม่สูงจะเป็นสัญญาระยะสั้น

เขตพาณิชย์สวนหลวงและสามย่าน (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)
เขตพาณิชย์สวนหลวงและสามย่าน (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)

พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 385 ไร่         

การบริหารและพัฒนาพื้นที่เขตพาณิชย์นอกเขตการศึกษา จำนวน 385 ไร่  ของจุฬาฯ ในย่านถนนพระราม 4 ,พระราม 1 ถนนบรรทัดทอง และถนนอังรีดูนังต์ โดยแบ่ง ออกเป็น 2 เขต พื้นที่หลัก  ได้แก่ พื้นที่สามย่าน และสยามสแควร์  เป็นการผสมผสานการใช้พื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย การพาณิชย์ วัฒนธรรม และความบันเทิง ตามแผนพัฒนาปี 2563

แนวทางการพัฒนาเขตพื้นที่ “สามย่าน” PMCU มีนโยบายพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการค้ารูปแบบใหม่ที่ผสมผสาน ระหว่างการพัฒนาให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยกับแหล่งธุรกิจและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่สามารถสร้างแหล่งงาน แต่ยังคงความเก่าแก่ของชุมชนสวนหลวงและสามย่าน

โครงการพื้นที่ “สวนหลวง-สามย่าน” ที่เตรียมพัฒนาในปี 2563  ประกอบด้วย

Block 28  โครงการอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น ที่พัฒนาพื้นที่เป็นสำนักงาน 5 อาคาร พื้นที่รวม 15,000 ตร.ม. PMCU เป็นผู้ลงทุนเองราว 200 ล้านบาท  เจาะกลุ่มผู้เช่าพื้นที่ ที่เป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ  เป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจ จึงไม่สามารถจ่ายค่าเช่าราคาแพงได้ แต่เป็นธุรกิจที่ต้องการอยู่ใกล้มหาวิทยาลัย แหล่งศูนย์รวมความรู้ และใช้ประโยชน์จากงานวิจัย ในการพัฒนาธุรกิจ  ตัวอาคารพื้นที่เช่าจึงเป็นอาคารเอนกประสงค์ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ในช่วงเวลาต่างๆ  เป็นรูปแบบอาคารที่สามารถสร้างคอมมูนิตี้ของคนทำงาน

โครงการ block 33 (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)
โครงการ block 33 (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)

Block 33  พัฒนาที่ดินขนาด 13.5 ไร่  เป็นโครงการที่อยู่อาศัยติดอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวใจกลางเมือง เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัย รูปแบบโครงการมิกซ์ยูส แนวคิด Residential & Wellness  เป็นโครงการที่อยู่อาศัยติดอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ  ซึ่งจะพัฒนาเป็นศูนย์รวมการแพทย์ชั้นนำ ด้านการส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Centre & Medical Hub) เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยส่งเสริมคุณภาพชีวิตย่านชุมชนใจกลางกรุงเทพฯ

โครงการ block 34 (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)
โครงการ block 34 (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)

Block 34  ที่ดินขนาด 11 ไร่ ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต” หรือ Futurism & Exhibition Center  ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาให้เป็นศูนย์รวมงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคตและแลนด์มาร์คใหม่ของคนไทยและต่างประเทศ

สยามสแควร์โฉมใหม่ ปี 63    

พื้นที่ สยามสแควร์  ที่เป็นย่านช้อปปิ้ง สตรีท แนวราบใจกลางกรุงเทพฯ ที่ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เป็นแหล่งรวมการเรียนรู้ สันทนาการและความบันเทิง ร้านอาหาร ธุรกิจบริการ  เป็นศูนย์รวม แฟลกชิพ สโตร์ ทั้ง อินเตอร์เนชั่นแนล แบรนด์ และ โลคอล แบรนด์

ภาพจากเฟซบุ๊ก PMCU
ภาพจากเฟซบุ๊ก PMCU

สำหรับโครงการพัฒนาในอนาคต The New Siam Square 2020  โดย PMCU มีโครงการพัฒนาพื้นที่ต่างๆ ภายในสยามสแควร์ เพื่อให้เป็นช้อปปิ้งสตรีท ระดับแนวหน้าของโลก เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงความสามารถในด้านต่างๆ อย่างสร้างสรรค์  โดยมีเป้าหมายพัฒนาให้สยามสแควร์เป็นย่านนวัตกรรมและแหล่งรวมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือ Siam Innovation District สะท้อนไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างของคนรุ่นใหม่

โครงการ SIAM SCAPE หรือ Block H  เป็นโครงการพัฒนาอาคารโบนันซ่าเดิม ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเอ็มบีเค พื้นที่ 63 ไร่ พัฒนาเป็นอาคารสูง 25  ชั้น ลงทุน 1,800 ล้านบาท  แนวคิดในการพัฒนาให้เป็นอาคารรูปแบบ Multi-Use    ประกอบไปด้วย ศูนย์การเรียนรู้ (Learning Space) อาคารสำนักงานสมัยใหม่ และพื้นที่ร้านค้า ที่โดดเด่นและแตกต่างด้วยแนวคิดการจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกัน

พร้อมด้วยอาคารที่จอดรถติดถนนพญาไท ที่สามารถรองรับรถได้กว่า 702 คัน  ,การพัฒนาสยามสแควร์ให้เป็น “ถนนคนเดิน” (Walking & Shopping Street) เต็มรูปแบบ โดยวางแผนเปิดให้บริการปี 2563

Block L (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)
Block L (ภาพจากเว็บไซต์ PMCU)

อาคารสยามกิตติ์ เฟส 2  หรือ Block L เป็นการพัฒนาร่วมกับเอกชนลงทุน ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่ระดับ 3 ดาว จำนวน 400 ห้อง เป็นส่วนต่อขยายของอาคารสยามกิตติ์ เฟส 2  โดยก่อสร้างเป็นอาคารสูง 30 ชั้น  ต่อยอดส่วนบนจากอาคารสยามกิตติ์เดิม ซึ่งได้เตรียมฐานรากรองรับไว้แล้ว  โครงการอยู่ตรงข้ามกับโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพฯ สยามสแควร์ คาดเปิดให้บริการปี 2563

อย่างไรก็ตามในปี 2562  จุฬาฯ จะประกาศมาสเตอร์ แพลน 5 ปี การพัฒนาพื้นที่ทั้งสยามสแควร์และสามย่าน  โดยมีองค์ประกอบเพิ่มเติม เช่น โรงพยาบาลกลางเมือง ซึ่งมีผู้สนใจร่วมลงทุน

ภาพจากเฟซบุ๊ก PMCU
ภาพจากเฟซบุ๊ก PMCU

สำหรับแผนลงทุนในปี 2562-2563  คาดใช้งบประมาณราว 2,000 ล้านบาท  โดยมีทั้งที่ PMCU ลงทุนเองและร่วมลงทุน ตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ในปี 2560 PMCU มีรายได้ 5,516 ล้านบาท  โดยรายได้จากค่าเช่าสัญญาระยะยาวคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3  ส่วนพื้นที่ที่บริหารเองคิดเป็น 2 ใน 3

Avatar photo