Marketing Trends

‘เลย์’ กว่าจะเป็นมันฝรั่งครองใจตลาด

“มันฝรั่ง” เป็นหนึ่งในพืชอาหารที่สำคัญและมีศักยภาพสูงในเชิงเศรษฐกิจระดับโลก ติดอันดับหนึ่งใน 5 ของพืชอาหารที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในโลก รองจากข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด และอ้อย ในปี 2559 มีปริมาณการผลิตมันฝรั่งทั่วโลกถึง 376 ล้านตันต่อปี

หัวมันฝรั่ง

สำหรับประเทศไทย แม้มันฝรั่งจะไม่ได้เป็นอาหารหลักของคนไทย แต่ถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร และขนมขบเคี้ยว ซึ่งมีมูลค่านับหมื่นล้านบาท และยังมีบทบาทสำคัญต่อภาคเกษตรกรรม จากเกษตรกรมันฝรั่งที่มีถึง 10,000 ครัวเรือน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเกษตรกรไทยกว่า 1,270 ล้านบาทต่อปี

แม้จะมีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศในฝั่งตะวันตก แต่มันฝรั่งก็สามารถปลูกได้ในประเทศไทยบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากเป็นพืชล้มลุกที่เติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเพาะปลูกช่วงกลางวันอยู่ที่ประมาณ 24 – 26 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคืนอยู่ระหว่าง 14 – 18 องศาเซลเซียส

แรกเริ่มเดิมทีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งอยู่บริเวณภาคเหนือตอนบน ผลิตเพื่อบริโภคสดเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาตลาดมันฝรั่งทอดกรอบเติบโต ทำให้เริ่มมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2530 – 2531 เพื่อนำไปแปรรูป

เมื่อมันฝรั่งทอดกรอบเป็นขนมขบเคี้ยวชนิดที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มเรื่อยๆ ภายหลังจึงมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูก  และรับซื้อผลผลิตเพื่อป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูป  ผ่าน “โครงการทดลองปลูกมันฝรั่งเพื่ออุตสาหกรรมแปรรูป” ความร่วมมือระหว่างโครงการหลวง บริษัทเอกชน สำนักงานเกษตรอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มเกษตรกรในอำเภอสันทราย

ไร่มัน

ด้วยทิศทางการบริโภคมันฝรั่งทอดกรอบของไทยยังคงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จากปี 2559 มีอัตราบริโภคประมาณ 416 กรัมต่อคนต่อปี เป็น 468 กรัมต่อคนต่อปี ในปี 2560 ที่ผ่านมา และยังโตไม่หยุด ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดในปี 2560 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวมแล้ว 37,858 ไร่ แบ่งเป็นพันธุ์โรงงาน 35,482 ไร่ และพันธุ์บริโภค 2,376 ไร่  ผลผลิตรวม 107,103 ตันต่อปี แบ่งเป็นพันธุ์โรงงาน 101,080 ตันต่อปี และพันธุ์บริโภค 6,023 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก เพชรบูรณ์ สกลนคร และนครพนม

บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ในเครือเป๊ปซี่โค ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย “เลย์” มันฝรั่งทอดกรอบอันดับหนึ่งของเมืองไทย นับเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ตลาดมันฝรั่งทอดกรอบเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 ที่ผ่านมา ตลาดมันฝรั่งทอดกรอบมีมูลค่าถึง 10,612 ล้านบาท อัตราการเติบโตอยู่ที่ 8.9 %

เคิร์ธ พรีชอว์ 3
เคิร์ธ พรีชอว์

แต่ละปีภาคอุตสาหกรรม จึงมีปริมาณความต้องการมันฝรั่งพันธุ์โรงงานสูง 140,000 – 150,000 ตัน ขณะที่เกษตรกรปลูกได้ 114,903 ตันในปี  2561 คิดเป็น 75 % ของปริมาณทั้งหมด ในส่วนที่เหลือยังต้องอาศัยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

นายเคิร์ธ พรีชอว์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจขนมขบเคี้ยว บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด เล่าว่า ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในฐานการผลิตหลักของบริษัท  จากโรงงานผลิตขนมคบเคี้ยว 2 แห่งที่ลำพูน และอยุธยา กำลังการผลิตรวมกัน 53,000 ตันต่อปี  โดย 95 %  เน้นทำตลาดในไทย อีก 5 % ส่งออกกว่า 14 ประเทศ และอยู่ระหว่างการขยายตลาดใหม่ๆรอบประเทศไทย ได้แก่ สปป.ลาว ที่ผู้บริโภคมีวิถีชีวิตใกล้เคียงไทย และเมียนมาร์ ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง

สำหรับประเทศไทย ถือว่าตลาดขนมขบเคี้ยวมีอัตราการเติบโตสูงมาก มูลค่าประมาณ 36,000 ล้านบาท ขยายตัวปีละประมาณ 6%  มันฝรั่งทอดกรอบเป็นสัดส่วนที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เฉพาะในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ หรือระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2561 เติบโตถึง 14%

ผลิตภัณฑ์เลย์

ในส่วนของเป๊ปซี่โค ทำตลาดขนมขบเคี้ยวมานานกว่า 20 ปีในไทย  มีมันฝรั่งทอดกรอบ “เลย์” เป็น แบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอันดับหนึ่ง ปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 75 %  นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน ได้แก่ ข้าวเกรียบ”ตะวัน” ขนมมัลติเกรนอบกรอบ “ซันไบทส์” ขนมขึ้นรูป “ทวิสตี้” “ซีโตส” “โดริโทส” และข้าวอ็ต “เควกเกอร์”

จากการครองส่วนแบ่งการตลาดในไทยมายาวนาน ทำให้เป๊ปซี่โคปักหลักที่จะมีไทยเป็นฐานที่มั่น และมุ่งเน้นใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีเกษตรกรเป็นพันธมิตรที่สำคัญ จึงเน้นพัฒนาศักยภาพ และสนับสนุนเกษตรกรไทยคู่กับการดำเนินธุรกิจ ผ่าน “โครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนภายใต้สัญญาข้อตกลงซื้อขายผลผลิตมันฝรั่ง ที่กำหนดราคารับซื้อที่แน่นอน” หรือ “คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง” (Contract Farming)  ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน

บริษัทส่งเสริมการเพาะปลูกและรับซื้อมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยราว 3,500 ราย ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกรวมกว่า 22,000 ไร่ใน 6 จังหวัดภาคเหนือ คือ  เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา และตาก รวมถึง 2 จังหวัดในภาคอิสาน คือสกลนครและนครพนม

นายชวาลา วงศ์ใหญ่ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมการเกษตร บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า  ขยายความว่า เป๊ปซี่โคเน้นการวัตถุดิบภายในประเทศเป็นหลักมาตลอด โดยส่งเสริมการปลูกมันฝรั่งในประเทศมาตลอดตั้งแต่ปี 2538  สอดคล้องกับยุทธศาสตร์มันฝรั่งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน เพื่อทดแทนพื้นที่เพาะปลูกกระเทียม หอมแดงและหอมหัวใหญ่ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ชวาลา เลย์
ชวาลา วงศ์ใหญ่

ขณะเดียวกันเราก็สนับสนุนเกษตรกรในทุกเรื่อง ทั้งปัจจัยการผลิต อาทิ ปุ๋ย ยา  โดยเน้นให้ใช้อย่างเหมาะสม และถูกเวลา เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ขณะเดียวกันยังให้หัวพันธุ์มันฝรั่งที่มีคุณภาพสูง นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กรมพัฒนาที่ดิน สนับสนุนเกษตรกรในมิติต่างๆ อย่างครบวงจร

รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้จากต่างประเทศ ในด้านเทคนิคการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตร และช่วยเพิ่มผลิตผลต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของบริษัทที่มีกว่า 40 คน เข้าไปทำงานกับเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

“ในปี 2559 ได้เข้าไปร่วมมือกับกับกรมวิชาการเกษตรใน “โครงการพัฒนาหัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า” เพื่อเพิ่มอัตราการใช้หัวพันธุ์มันฝรั่งภายในประเทศให้มากกว่า 50% โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตให้ได้ถึง 5 ตันต่อไร่ภายใน 5 ปีจากผลผลิตเฉลี่ยในตอนนี้ประมาณ 3 ตันต่อไร่”  

มันและเลย์

และเพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการผลิตและรายได้ นายชวาลา ระบุว่า บริษัทได้ทำคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง กับเกษตรกร ทำให้ระบบการผลิตมีความมั่นคง ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการปัญหาความไม่แน่นอนของรายได้ และลดความเสี่ยงจากปัญหาปริมาณสินค้าล้นตลาด ทำให้มันฝรั่งแตกต่างจากพืชเกษตราหลายชนิด

“เรารับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรในราคาที่สูงกว่าราคาประกันขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนด ปัจจุบันราคาประกันรับซื้อมันฝรั่งพันธุ์โรงงานในฤดูแล้ง (มกราคม – มิถุนายน) อยู่ที่ 10.60 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาประกันในฤดูฝน (กรกฎาคม – ธันวาคม) อยู่ที่ 14 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรในพัฒนาคุณภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งแต่ละปีเป๊ปซี่โคได้รับซื้อผลผลิตมันฝรั่งจากเกษตรกรไทยทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 70,000 ตัน”

ระบบคอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง ยังทำให้ภาคเอกชนเองก็ได้รับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปริมาณตามที่กำหนด ระบบนี้ส่งผลดีให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจที่จะพัฒนาผลผลิต เทคโนโลยี ตลอดจนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่สร้างความเป็นธรรมให้กับทั้งสองฝ่าย ช่วยผลักดัน และยกระดับให้อุตสาหกรรมเกษตรของไทยมีความมั่นคง

บุญศรี ใจเป็ง 6
บุญศรี ใจเป็ง

ทางด้านเกษตรกรอย่างลุงบุญศรี ใจเป็ง หนึ่งในผู้ปลูกมันฝรั่ง ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของรางวัล “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชไร่ภาคเหนือ ปี 2553”  ที่เข้าร่วมในโครงการส่งเสริมการเพาะปลูกมันฝรั่งอย่างยั่งยืนฯ ของเป๊ปซี่โค เล่าว่า การเพาะปลูกมันฝรั่งในประเทศไทย มีผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ตันต่อไร่ แต่สำหรับพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดเชียงใหม่มีการพัฒนา เรียนรู้ และทดลองการเพาะปลูกร่วมกับภาครัฐ และภาคเอกชน อย่าง บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า มาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี ทั้งในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา และแบบอื่นๆ ทำให้ผลผลิตสูงถึง 5 ตันต่อไร่ บนพื้นที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวมกว่า 1,500 ไร่ต่อปี

อย่างไรก็ตามเพื่อให้ได้ผลผลิตมันฝรั่งที่มีคุณภาพ เราเองก็ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องของการเพาะปลูก รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดิน น้ำ อากาศ หัวพันธุ์ ปุ๋ย ตลอดจนเทคนิคและเทคโนโลยีการเพาะปลูก โดยได้ทำงานร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของเป๊ปซี่โคตั้งแต่ไถเตรียมดิน

“หากเราตั้งใจ อดทน พยายามหาวิธีปลูก และคิดค้นดัดแปลงเครื่องมือที่เหมาะสม พร้อมกับทำงานร่วมกับเอกชนที่จะมารับซื้อผลผลิตของเรา การทำเกษตรก็ให้ผลตอบแทนได้อย่างดี วันนี้มันฝรั่งสร้างกำไรให้เกษตรกรได้ถึงปีละ 10,000 บาทต่อไร่เลยทีเดียว” เป็นคำยืนยันจากเกษตรกรตัวจริงเสียงจริง ที่สร้างฐานะอย่างมั่นคงส่งต่อถึงลูกหลานด้วยอาชีพปลูกมันฝรั่ง

Avatar photo