Opinions

บนเส้นทางอุตสาหกรรมไข่ไก่ที่ยั่งยืน

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
368

การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นประเด็นให้ติดตามมาหลายเดือน ล่าสุดได้เห็นภาพความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ออกมาดำเนินการเพื่อให้สถานการณ์ราคาไข่ไก่กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุด เพราะทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ต้องแบกรับภาระขาดทุนมาไม่ต่ำกว่าปีครึ่ง

1542890082540

ขณะที่แนวทางแก้ปัญหากำลังดำเนินไป สิ่งที่สอดแทรกขึ้นมาท่ามกลางความร่วมมือ กลับกลายเป็นข้อสงสัยในบริษัทพี่ใหญ่อย่างซีพี โดยพุ่งเป้าไปยังการนำเข้าไก่ไข่ระดับปู่ย่าพันธุ์ GP (Grand Parent Stock) ว่าเป็นสาเหตุการทำให้ไข่ไก่ล้นตลาด เป็นเหตุให้ภาครัฐต้องเข้าตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการนำเข้า GP และทำการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ – PS (Parent Stock) ตามที่ได้แจ้งไว้หรือไม่  หลังจากที่ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ในฐานะมิสเตอร์ไข่ไก่เข้าตรวจสอบแล้วก็พบว่ามีที่มาที่ไปของผลผลิตไก่ระดับพ่อแม่พันธุ๋อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม การสรรหาพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ของบริษัทผู้เลี้ยงไก่ไข่พ่อแม่พันธุ์-PS ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ นายบรรเจิด หอมบุญมา รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายธุรกิจไก่ไข่ของซีพี จึงได้เสนอแนวทางในที่ประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาไข่ไก่ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า บริษัทผู้ประกอบการที่นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ควรหันมาเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ (GP) เอง เพื่อผลิต PS ด้วยตัวเอง

1542890133380

โดยอาจรวมตัวกันเลี้ยง เพื่อสร้างเสถียรภาพให้อุตสาหกรรมไก่ไข่ของประเทศ และยังช่วยประหยัดเงินตราไม่ให้รั่วไหล ที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างความมั่นคงในอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ต้องเอาอนาคตไปผูกกับต่างชาติ นับเป็นอีกแนวคิดที่ดี ในการแก้ปัญหาปริมาณผลผลิตไข่ไก่ ช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ได้อีกทางหนึ่ง

หากจะมองให้ลึกไปถึงอุตสาหกรรมไก่ไข่แล้ว จะเห็นว่าไข่ไก่เป็นสินค้าอ่อนไหวที่มีการขึ้นลงของราคาตลอดทั้งปี เป็นไปตาม “กลไกตลาด” ราคาจะถูกกำหนดโดยปริมาณผลผลิตและความต้องการบริโภคในขณะนั้น แต่ละปีจะมีช่วงที่ราคาไข่ไก่สูงเพียง 4-5 เดือนในช่วงต้นปี จากปริมาณไข่ไก่ลดลงเพราะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน สวนทางกับการบริโภคสูงที่ขึ้นเพราะมีเทศกาลสำคัญๆหลายวัน

ขณะที่ช่วงราคาทรงตัว-ตกต่ำจะเกิดขึ้นนานถึง 7-8 เดือน จากความไม่สมดุลของปริมาณไข่ไก่กับการบริโภค  ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการปรับขึ้นลงของราคา ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต ปริมาณการเลี้ยงไก่ไข่ หรือสภาพอากาศ

1542890273508

ภาพราคาไข่ไก่ที่ขึ้นลงวนเวียนจนกลายเป็นภาพจำให้เห็นทุกปี ทำให้เห็นว่าการสร้างเสถียรภาพราคาไข่ไก่นั้นแสนยากเย็น … และต้องยอมรับว่า การแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ที่ผ่านมา มักเป็นไปในแบบเฉพาะหน้า รัฐหันมาขอความร่วมมือจากผู้ผลิตและเกษตรกรให้ลดจำนวนแม่ไก่ยืนกรงเพื่อลดปริมาณไข่ไก่ หรือเพิ่มการส่งออกไข่ รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคไข่มากขึ้น ส่วนยามใดที่ไข่ไก่ราคาแพงภาครัฐก็จะเร่งแก้ปัญหาด้วยมาตรการควบคุมราคา ที่ไม่ต่างอะไรกับการทำร้ายเกษตรกร เท่ากับว่าไม่เคยเห็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเลย

ทั้งที่จริงๆแล้วภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ต่างสามารถคาดการณ์ได้ว่า ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และรู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร จึงควรช่วยกันพัฒนาอุตสาหกรรมไก่ไข่อย่างจริงจัง ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาจากข้อมูลจริง เพื่อวางแผนระยะยาว การบริหารการผลิตให้มีผลผลิตเพียงพอกับการบริโภค เพื่อให้ไข่ไก่มีราคายุติธรรมต่อผู้บริโภค และเกษตรกรก็ขายไข่ไก่ได้ราคาและไม่ขาดทุน

การแก้ปัญหาทุกครั้งที่ผ่านมา เห็นจะมีผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญที่ร่วมกันเร่งสร้างเสถียรภาพราคาไข่ โดยพยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยให้เรื่องนี้ผ่านไปได้ แม้จะต้องยอมเฉือนเนื้อตัวเอง ทั้งเรื่องการปลดแม่ไก่ก่อนกำหนด การเสียสละส่งออกไข่ไก่ในราคาถูกกว่าในประเทศ เพื่อผลักดันไข่ไก่ส่งออกนอกประเทศทั้งๆที่ต้องขาดทุน หรือแม้แต่การปลดพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ออก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการนั่งมองเงินลงทุนของตัวเองต้องถูกเผาทิ้งไปต่อหน้า

1542890265733 1

ไม่เพียงภาคเอกชนรายใหญ่ แต่เกษตรกรทั้งรายใหญ่ รายกลาง หรือรายเล็ก ล้วนต้องจริงใจในการร่วมแก้ปัญหา ทั้งการปลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงของผู้เลี้ยงไม่ให้มีอายุเกิน 72 สัปดาห์ ซึ่งเป็นมาตรการที่ภาครัฐกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เลี้ยงลากยาวไปจนถึงอายุขัยจริงที่

90 สัปดาห์ จะยิ่งทำให้ปัญหาถูกหมกไว้ ขณะที่ปลายทางอย่างผู้บริโภคก็มีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือเกษตรกรและหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมนี้ให้อยู่ต่อไปได้ หากคนไทย 68 ล้านคนในปัจจุบัน หันมาบริโภคไข่ให้มากขึ้น เพียงกินไข่กันวันละ 1 ฟอง ก็จะช่วยลดปัญหาปริมาณผลผลิตเกินกว่าความต้องการตลาดได้ หรือแม้แต่ช่วงปีใหม่จะจัดไข่ไก่เป็นกระเช้าส่งความสุข ก็เป็นอีกไอเดียที่ผู้รับได้ทั้งประโยชน์จากไข่ไก่ ส่วนผู้ให้ก็ได้ช่วยเกษตรกรอีกทาง

ถ้าสามารถแก้ไขได้ทั้งระบบ  การพัฒนาการเลี้ยงปู่ย่าพันธุ์ทดแทนการนำเข้า และร่วมมือกันวางแผนการผลิตไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค วงจรราคาไข่ไก่ ก็จะไม่กลับมาเป็นปัญหาซ้ำซากให้ต้องออกมาเรียกร้องหามาตรการแก้ไข หรือสาดโคลนใส่กันอีกต่อไป… ทุกคนในอุตสาหกรรมนี้ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน 

บทความโดย รัฐพล ศรีเจริญ : [email protected]