Economics

พัฒนาเครื่องมือหาต้นตอน้ำมันรั่วกลางทะเล

10 หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ร่วมพัฒนาฐานข้อมูลน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์น้ำมันในไทย หาแหล่งที่มาน้ำมันรั่วกลางทะเล หลัง 2 ปีพบก้อน-คราบน้ำมันบริเวณนอกฝั่ง และชายหาด ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งแต่หาต้นตอไม่ได้

oi2

วานนี้ (21 พ.ย.) กรมเชื้อเพลิงธรมชาติ ร่วมกับ 9 หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) พัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย (Development of Crude Oil and Relevant Oil Product Fingerprint Library in Thailand) เพื่อบูรณาการฐานข้อมูล และพัฒนาแนวทางแก้ไขปัญหา และป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ

นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า เอ็มโอยูครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ

ความร่วมมือประกอบด้วย การศึกษา และจัดทำข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการวิเคราะห์ก้อนน้ำมันดิน และคราบน้ำมัน เพื่อบ่งชี้แหล่งที่มาบนพื้นฐานทางวิชาการภายใต้กรอบมาตรฐานสากล รวมถึงเพื่อสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหาการรั่วไหลของน้ำมัน และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อสังคมทุกภาคส่วน

การดำเนินงานร่วมกันครั้งนี้ จะใช้ระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันลงนาม เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ เพื่อไปสู่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้อย่างยั่งยืน

ในส่วนการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มีนโยบายและมาตรการในการป้องกันปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทุกพื้นที่อย่างเข้มงวดตลอดมา โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการปิโตรเลียมจะต้องป้องกัน และบำบัดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากลและตามมาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 เพื่อให้การดำเนินกิจการปิโตรเลียมสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

oi1

นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การรั่วไหลของ น้ำมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้ให้ความสําคัญกับการแก้ไขปัญหามลพิษทางทะเล  กําหนดให้มีการพัฒนาระบบควบคุม และตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเล

ส่วนในระดับภูมิภาคก็กําหนดให้มีการลดการรั่วไหลของกากน้ำมัน และน้ำมันไว้ในร่างยุทธศาตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2559 – 2568  ซึ่งความร่วมมือนี้ได้สร้างโอกาสที่ดีให้หน่วยงานที่มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ ถึง 10 หน่วยงาน มาร่วมกันทํางาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งน้ำมันได้อย่างมี ประสิทธิภาพ และจะนําไปสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคอาเซียนในอนาคตต่อไป

ทางด้านนายประลอง ดํารงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2560 – 2561 พบก้อนน้ำมัน และคราบน้ำมันบริเวณนอกฝั่ง และชายหาดที่สําคัญ ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง เช่น ชายหาดเกาะสมุย และ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชายหาดทุ่งซาง อําเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ชายหาดทุ่งประดู่ อําเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชายหาดแม่รําพึง อําเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งยังไม่สามารถสืบหาแหล่งที่มาของก้อนน้ำมัน และคราบน้ำมันดังกล่าว

oi

ในการสืบหาแหล่งที่มาจะต้องดําเนินการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อหาดัชนีชี้วัดทางชีวภาพ (Biomarker) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเรียกว่า “ข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมัน (Oil fingerprint)” และนํามาเปรียบเทียบฐานข้อมูลลายนิ้วมือของน้ำมันที่มีการขนส่งบริเวณใกล้เคียง

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีการจัดทําฐานข้อมูลดังกล่าว ดังนั้น คพ. จึงได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวม 10 หน่วยงาน จัดทําเอ็มโอยูดังกล่าว และหลังจากนี้คพ. จะบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานภายใต้เอ็มโอยูในการขับเคลื่อนการดําเนินงาน โดยจะร่วมกันกําหนดกรอบแผนการดําเนินงาน และเสนอจัดตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อกํากับดูแลการดําเนินงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยูต่อไป

“การลงนามครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นของคพ.ในการปฏิบัติงานตามวิสัยทัศน์  ปกป้องสิ่งแวดล้อม ควบคุม แก้ไข มลพิษ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ภายในปี 2569 โดยมุ่งเน้นบูรณาการความร่วมมือกับ ทุกภาคส่วน” นายประลอง กล่าว

สำหรับ 10 หน่วยงานที่ร่วมลงนามเอ็มโอยู ประกอบด้วย กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมศุลกากร ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศลชร.) ในส่วนกองทัพเรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย วิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน

Avatar photo