Economics

สรุปชัด ๆ ‘เราชนะ’ คืออะไร ใครได้เงินเยียวยา 7,000 บาทบ้าง อ่านที่นี่เลย!!

เราชนะ แจกเงินเยียวยา 7,000 บาท คืออะไร? เหมือน “เราไม่ทิ้งกัน” หรือไม่ พร้อมเปิดลงทะเบียนวันไหน ใครมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาบ้าง อ่านที่นี่เลย!!

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. วานนี้ (12 ม.ค.) ได้ออกมาตรการเยียวยา “โควิด” ระลอกใหม่ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลจะเยียวยารายได้ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มเกษตรกร โดยพิจารณาให้มอบเงินเยียวยา จำนวน 3,500 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน คือช่วงเดือน กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2564

โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง ที่ประชุม ครม. ได้กำหนด “เงินเยียวยาโควิด” โดยมีวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยรับเงินเยียวยาภายใต้โครงการที่ชื่อว่า “เราชนะ” โดยจะนำรายละเอียดโครงการต่อที่ประชุม ครม. ในสัปดาห์หน้า

เราชนะ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การคัดกรองผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 3,500 บาท นาน 2 เดือน จากมาตรการ “เราชนะ” นั้น จะแตกต่างจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่ง “กระทรวงการคลัง” มั่นใจว่า จะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทุกคนแน่นอน เพราะเป็นการคิดจากฐานข้อมูลประชากรทั้งประเทศ 66 ล้านคน และมาคัดกรองออกจนเหลือกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือจริง ๆ (Negative List) ไม่ใช่เป็นการเปิดลงทะเบียนว่าใครได้รับผลกระทบ (Positive List) ซึ่งวิธีการนั้นส่งผลให้มีจำนวนผู้ที่ต้องการเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับกลุ่มที่จะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว อาทิ

  • กลุ่มข้าราชการกว่า 3 ล้านคน
  • พนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ
  • กลุ่มที่อยู่ในฐานระบบกองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 33 อีก 11 ล้านคน
  • กลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง

ซึ่งกระทรวงการคลัง จะมีเกณฑ์พิจารณาว่า รายได้เท่าใดจึงจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 3,500 บาท โดยพิจารณาจากบัญชีเงินฝาก รายได้เข้า-ออกเดือนต่อเดือน และฐานข้อมูลผู้เสียภาษี เป็นต้น

ส่วนกลุ่มที่จะได้รับเงินช่วยเหลือ จะแบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ผ่านเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น “เราชนะ” ได้แก่

  • กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว
  • กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการคนละครึ่ง ที่มีการยืนยันใช้สิทธิแล้วกว่า 13.8 ล้านราย หรือไม่เกิน 15 ล้านราย แต่ก็ต้องมาพิจารณาคุณสมบัติว่า จะผ่านเกณฑ์ได้รับเงินช่วยเหลือในรอบนี้ด้วยหรือไม่อีกครั้ง

ส่วนกลุ่มต้องลงทะเบียนใหม่ จะเป็นกลุ่มที่ไม่เคยอยู่ในฐานข้อมูลเดิมอยู่เลย

ทั้งนี้ กลุ่มที่จะได้รับเงินเยียวยา ต้องเป็นกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกร ที่เคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อาจจะต้องมาลงทะเบียนใหม่ และจะช่วยเหลือพร้อมกันในรอบเดียว ในหลักการก็จะช่วยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ เหมือนมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ก่อน เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล และมัคคุเทศก์ เป็นต้น

เราชนะ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง

สำหรับเว็บไซต์ www.เราชนะ.com นั้น คาดว่าจะเปิดให้ลงทะเบียนได้ในช่วงสิ้นเดือน มกราคมนี้ โดยจะแจกเงิน 2 เดือน คือ กุมภาพันธ์ และมีนาคม ซึ่งรายละเอียดการลงทะเบียนจะไม่ยุ่งยากเหมือนมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่มีชุดคำถามเชิงลึก เพื่อพิจารณาว่าได้รับผลกระทบจริงหรือไม่ ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะนำมาใช้กับรอบนี้อยู่ระหว่างสรุป แต่ยืนยันว่าจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ยังพอเพียง

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สำหรับคุณสมบัติ ผู้ที่จะไม่ได้รับในเบื้องต้น ประกอบด้วย ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม จำนวน 11 ล้านคน ยกเว้นผู้ที่อยู่ในมาตรการ 39 และมาตรา 40, ข้าราชการและพนักงานของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3 ล้านคน และผู้ที่มีรายได้สูง

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์คุณสมบัติ โดยอาจจะประเมินจากฐานเงินเดือนและบัญชีเงินฝาก ส่วนผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการ 14 ล้านคน จะได้เข้าร่วมมาตรการอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเข้ามาลงทะเบียน

ขณะที่ผู้ที่เคยเข้าร่วมมาตรการของรัฐซึ่งมีแอป “เป๋าตัง” อยู่แล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง จำนวน 15.3 ล้านคน คลังจะดึงข้อมูลเหล่านั้นมาพิจารณา ถ้ามีรายได้เกินเงื่อนไขที่กำหนดจะถูกตัดสิทธิ ส่วนผู้ที่เข้าเกณฑ์จะได้รับเงินอัตโนมัติ ซึ่งต้องรอรับเงินผ่านแอปเป๋าตัง โดยไม่ต้องลงทะเบียน ขณะที่ผู้ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้มีฐานข้อมูลในแอปเป๋าตังจะได้รับเงินผ่านพร้อมเพย์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo