Opinions

กสทช.กับตรรกะประหลาดเพื่อ ‘อุ้ม’ ผู้ประกอบการ 4G

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight
11

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์เฟซบุ๊ก บัญชี Somkiat Tangkitvanich  เรื่อง มาตรการ “อุ้ม” ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ที่อาจเข้า ที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันอังคารที่ 10 เมษายน นี้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (รูปจาก เฟซบุ๊ก TDRI )

หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา โฆษกรัฐบาลแถลงว่า นายกรัฐมนตรีให้แนวนโยบายในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล และการขอยืดจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น 4G ของเอไอเอสและทรูว่า ให้คำนึงถึงหลักการ 2 ประการ คือ 1. ต้องให้เอกชนสามารถประกอบธุรกิจได้ ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน แต่ทั้งนี้เอกชนต้องยอมรับความจริงเรื่องความเสี่ยงทางธุรกิจและ 2. ต้องไม่ให้ผลประโยชน์ของรัฐเสียหาย

ถ้อยแถลงดังกล่าวชี้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง     อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏข่าวว่า เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามเสนอรัฐบาลให้ “อุ้ม”  เอไอเอสและทรู ในแนวทางที่แตกต่างจากหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยอ้างข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง  เพราะยืนยันที่จะเสนอให้รัฐบาลยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G  งวดสุดท้ายออกไป โดยอ้างว่าจะทำให้

  1. รัฐบาลมีรายได้ประมาณ 3,600 ล้านบาทจากดอกเบี้ย 1.5% ตามอัตราของธนาคารแห่งประเทศไทย แทนที่จะปล่อยให้ผู้ประกอบการ 2 ราย ไปกู้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้รัฐไม่ได้รายได้ดังกล่าว
  2. รัฐบาลน่าจะมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4G ย่าน 1800 MHz ที่จะจัดขึ้น เป็นเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย แต่รัฐอาจไม่ได้รายได้ดังกล่าว หากไม่ยืดเวลาการจ่ายค่าประมูลคลื่น 4G งวดสุดท้าย

ที่ผมกล่าวว่า ข้อเสนอของเลขาธิการ กสทช. แตกต่างจากแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี และอยู่บนข้อมูลและตรรกะที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง  ก็ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

เอกชนต้องสามารถประกอบธุรกิจได้

ผู้ประกอบการทั้งสองรายคือ เอไอเอสและทรู ไม่ได้มีปัญหาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด  เอไอเอสยังเป็นอันดับ 1 ของตลาดโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย และมีผลกำไรมหาศาลถึง 3 หมื่นล้านบาทในปี 2560 แม้จะลดลงจากก่อนหน้านั้นไปบ้าง

เอไอเอส ทรู

ส่วนทรูนั้น แม้จะมีกำไรน้อยกว่าเอไอเอสมาก แต่ก็ยังมีกำไร 2.3 พันล้านบาทในปี 2560  ที่สำคัญ ทรูมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 20.9% เมื่อไตรมาส 4/2558 ซึ่งมีการประมูลคลื่น เป็น 26.9% ในไตรมาส 4/2560  และแจ้งต่อนักลงทุนว่า สามารถเพิ่มลูกค้าได้ 2.7 ล้านรายในปี 2560 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นมีลูกค้าลดลง

ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่รัฐบาลจะต้องเข้าไป “อุ้ม” ทั้ง 2 บริษัท  เนื่องจากทั้ง 2 บริษัทยังดำเนินธุรกิจได้ดี 

ไม่กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน

จากผลประกอบการที่ดีดังกล่าว นักลงทุนจึงยังคงมีความเชื่อมั่นต่อทั้ง 2 บริษัท ซึ่งสะท้อนจากมุมของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์หลายรายที่ระบุว่า ฐานะทางการเงินของทั้ง 2 บริษัทยังแข็งแกร่ง  แม้รัฐบาลจะไม่ยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลคลื่น

ที่สำคัญกว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อบางบริษัทคือความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย การที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎกติกาหรือเงื่อนไขที่ออกมาแล้ว อันเป็นผลจากการเรียกร้องของผู้ประกอบการบางรายโดยไม่มีเหตุผลอันควร จะมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เพราะเป็นการส่งสัญญาณว่า ประเทศไทยไม่มีหลักการที่ชัดเจน สามารถต่อรองได้ทุกเรื่องหากมีเส้นสาย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนที่ประกอบธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา ลังเลที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจ

ในระบบตลาดเสรี ย่อมไม่มีหลักประกันใด ๆ ว่า ผู้ประกอบการจะต้องได้รับกำไรเสมอไป เพราะการประกอบธุรกิจทั้งหลายย่อมมีความเสี่ยงทางธุรกิจตามปรกติ (normal business risk) ซึ่งเอกชนจะต้องแบกรับเอง   รัฐไม่ได้มีหน้าที่ช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการทุกรายให้ไม่ขาดทุน หากสาเหตุของการขาดทุนนั้นไม่ได้มาจากรัฐหรือกฎระเบียบของรัฐ (regulatory risk)

ในกรณีนี้ เอไอเอสและทรู เสนอราคาในการประมูลโดยสมัครใจและเข้าใจเงื่อนไขการผ่อนชำระค่าประมูลเป็นอย่างดี  จึงควรต้องยอมรับความเสี่ยงปรกติทางธุรกิจต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตน

ผลประโยชน์ของรัฐต้องไม่เสียหาย

เงื่อนไขการประมูลกำหนดไว้ชัดเจนว่า หากชำระค่าประมูลล่าช้าจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ไม่ใช่ 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช. เสนอ  ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในกรณีนี้คิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลทำตามข้อเสนอของ กสทช. ก็จะเป็นการยกผลประโยชน์มหาศาลให้เอกชนทั้งสอง

อัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่เลขาธิการ กสทช.ยกมา เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้กันในเชิงพาณิชย์ และยังเป็นอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนทางการเงินของรัฐบาลด้วย  ซึ่งหมายความว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ทั้ง 2 รายกู้ในอัตราดังกล่าว นอกจากจะไม่ได้ดอกเบี้ยที่อัตรา 15% ตามสัญญาแล้ว ยังขาดทุนทางการเงินด้วย การอ้างว่า รัฐจะมีรายได้จากดอกเบี้ยถึง 3,600 ล้านบาทจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

ผู้ประกอบการทั้งสองรายออกแถลงการณ์ชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า การผ่อนชำระค่าประมูลคลื่นดังกล่าว  “ไม่ได้เป็นการขอลดค่าประมูลคลื่น” เป็นแต่เพียงการ “ขยายเวลา” เท่านั้น ไม่ได้ทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์  คำกล่าวอ้างดังกล่าวก็ไม่เป็นความจริงเนื่องจากการขยายเวลาโดยจ่ายดอกเบี้ยในอัตราต่ำมาก ก็มีผลเหมือนการขอลดค่าประมูลคลื่น ซึ่งทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย

การขอใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเพราะ “ต่างได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นจาก กสทช. มาเช่นเดียวกัน” ก็ไม่สมเหตุผล เนื่องจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดทุน โดยสาเหตุหนึ่งเกิดจากการดำเนินการที่บกพร่องของ กสทช.  ในขณะที่ เอไอเอสและทรูมีกำไรและไม่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการของ กสทช.

เอไอเอสและทรูยังอ้างว่าสามารถกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ได้ในอัตราดอกเบี้ยประมาณ 3-4% ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก  หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการทั้งสองรายก็สมควรไปกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาชำระค่าประมูล ไม่ใช่ให้รัฐปล่อยกู้ในอัตราขาดทุน โดยผู้เสียภาษีเป็นผู้แบกรับภาระแทน  

การเข้าร่วมประมูลคลื่นในอนาคต

เลขาธิการ กสทช. อ้างว่า การขยายเวลาผ่อนชำระค่าประมูล จะช่วยให้รัฐได้รายได้จากการประมูลคลื่น 1800 MHz มากขึ้น เพราะมีความเป็นไปได้สูงว่า เอไอเอสและทรู จะเข้าร่วมประมูลด้วย   ข้ออ้างดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานของการ “มโน” หรือคาดเดาฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้ว่า แถลงการณ์ของเอไอเอสและทรูก็ไม่ได้ระบุเลยว่า จะเข้าประมูลรอบใหม่หากได้รับการผ่อนชำระค่าประมูล

ที่สำคัญ หากเอไอเอสและทรูจะเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz ด้วยเหตุผลจากการเจรจาแบบ “หมูไปไก่มา” ก็ยิ่งจะเป็นผลเสียต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทย เพราะแทนที่การประมูลคลื่นจะเกิดขึ้นตามกลไกตลาด ภายใต้กติกาที่เป็นธรรมและโปร่งใส กลับเกิดขึ้นจากการต่อรองกันเป็นครั้งๆ หรือการวิ่งเต้น

รัฐบาล และ กสทช. ไม่ควรคาดหวังว่า การประมูลคลื่น 1800 MHz ในอนาคตจะต้องได้ค่าประมูลสูงเท่ากับที่ผ่านมา เนื่องจาก ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการ 2 รายคือ เอไอเอสและทรู ได้ประมูลคลื่นไปจำนวนหนึ่งแล้ว จึงอาจไม่ต้องการประมูลคลื่นเพิ่มเติมอีกมาก (นอกจากเพื่อกีดกันคู่แข่ง)  รายได้จากการประมูลคลื่นรอบใหม่นี้จะมากหรือน้อยจึงควรเป็นไปตามอุปทานและอุปสงค์ ภายใต้การออกแบบการประมูลที่ดี โดยไม่ต้องพยายามบิดเบือนให้ได้ราคามากหรือน้อย

โดยสรุป แม้นายกรัฐมนตรีสามารถจับประเด็นประโยชน์สาธารณะในเรื่องดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง  เลขาธิการ กสทช. ยังพยายามชักจูงรัฐบาลให้ “อุ้ม”  ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่ว่าจะพิจารณาในแง่มุมใดๆ  รัฐบาลจึงควรตัดสินใจอย่างมั่นคงบนผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เข้ามามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจ