Environmental Sustainability

ปะการังเทียม ‘ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า’ พาปลากลับคืน ‘เกาะทะลุ’

 

“เกาะทะลุ” แหล่งท่องเที่ยวและดำน้ำขึ้นชื่อของอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งอยู่ฝั่งอ่าวไทยตอนบน เป็นจุดหมายของนักเดินเรือ ที่รู้จักกันมาหลายร้อยปีในฐานะ “ประตูสู่อ่าวสยาม”

สมัยก่อนเรือขนสินค้าจะเข้ามาอาศัยหลบลมพายุในช่วงฤดูมรสุมทางด้านทิศใต้ของเกาะ ส่วนทางทิศเหนือ จะมีลมพายุรุนแรงพัดกระหน่ำกัดเซาะหน้าผาจนทะลุ กลายเป็นช่องขนาดใหญ่ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เกาะทะลุ”

cover ปะการังเทียม กฟผ

พื้นที่บริเวณเกาะทะลุ ยังเป็น 1 ในสองแหล่งวางไข่ และอนุบาลลูกปลาทูไทยที่สำคัญ โดยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ไทยประสบปัญหาจำนวน ปลาทูไทย ลดลงอย่างน่าตกใจ และมีขนาดเล็กลง อย่างต่อเนื่อง เพราะถูกจับมาก่อนที่จะโตเต็มวัย คนไทยจึงมีปลาทูไทยแท้ ให้กินน้อยลง ส่งผลให้ต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมากขึ้นทุกปี

ปลาทูไทย แตกต่างจากปลาทูนำเข้า คือมีเนื้อแน่น และรสชาติดีกว่า ว่ากันว่าเพราะปลาทูไทย เติบโตในอ่าวไทย ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม แก่การวางไข่ และเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์

ปรีดา เจริญพักตร์ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูทะเลสยาม อดีตชาวประมงที่เกาะทะลุ เล่าว่า นอกจากปลาทูไทยที่เคยหายไปแล้ว ปลาเศรษฐกิจชนิดอื่น ๆ ก็ทยอยหายไปด้วยเช่นกัน อย่างปลาจะละเม็ดเทา หรือปลาเต๋าเต้ย ปลาเก๋า ปลาสร้อยนกเขา ปลาโฉมงาม ปลาครูดคราด ปลาทรายแดง หรือปลากะพงสีน้ำเงิน ซึ่งล้วนแต่เป็นปลาเศรษฐกิจราคาสูง ที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงอย่างเป็นกอบเป็นกำ

ปะการังเทียม

หลายปีที่ผ่านมา ปลาจำนวนมากหายไปจากเกาะทะลุ ทั้งที่ในอดีตชาวประมงเคยล่องเรือไม่กี่ชั่วโมง ก็สามารถจับปลาได้เกือบหมื่นกิโลกรัม แต่ช่วงที่ผ่านมา ต่อให้ออกเรือทั้งวัน ก็จับปลาได้แค่ไม่กี่ร้อยกิโลกรัมเท่านั้น รายได้หลักหมื่น เหลือแค่หลักร้อย ทำให้ชาวประมงไทย ต้องล่องเรือออกทะเล ไปจับปลาในระยะไกลขึ้นเรื่อย ๆ

ประธานมูลนิธิฟื้นฟูทะเลสยาม บอกว่า เคยนำเรืออวนลาก เข้ามาจับปลาทูบริเวณด้านหลังเกาะทะลุจนตั้งตัวได้ จึงกลับมาซื้อที่ดินสวนมะพร้าวบนเกาะทะลุ ต่อจากชาวบ้านบนเกาะ ด้วยความตั้งใจที่จะรักษาผืนดินบนเกาะทะลุให้เป็นของคนไทย และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต โดยได้สนับสนุนเรือ และงบประมาณให้แก่เจ้าหน้าที่กรมประมง ที่เข้ามาทำงานตรวจอ่าวในสมัยนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งปี 2535 กรมประมงเล็งเห็นถึงความสำคัญของ อ่าวบางสะพาน ซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของปลาทูไทย จึงผลักดันให้ประกาศเขตพื้นที่อ่าวบางสะพานเป็น “โครงการจัดการทรัพยากรประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน” ภายใต้แนวคิดสิทธิประมงหน้าบ้าน ร่วมสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวประมงชายฝั่ง ให้ช่วยกันดูแลทรัพยากร และบริหารจัดการอย่างยั่งยืน

ปะการังเทียม

ปะการังเทียม สร้างบ้านให้ปลา 

ต่อมาในปี 2542 ได้มีการประกาศกฎหมายปกป้องพื้นที่อ่าวบางสะพานรวมจำนวนกว่า 150,000 ไร่ ถือเป็นต้นแบบของการจัดการประมงโดยชุมชนแห่งแรกของไทย ซึ่ง ปรีดาได้มอบที่ดินจำนวนหนึ่ง เพื่อจัดตั้งเป็นสำนักงานของโครงการ และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชาวประมงชายฝั่งมาจนถึงปัจจุบัน

สาเหตุหลัก ที่ทำให้ปลาแถบเกาะทะลุหายไป คือ การทำประมง ทั้งประมงพาณิชย์ และประมงพื้นบ้าน ที่ใช้เครื่องมืออย่างไม่เหมาะสม ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาขยะจากการท่องเที่ยว และขนส่งทางทะเล ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบนิเวศใต้ทะเล ทั้งแนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล ป่าชายเลน และคุณภาพชีวิตสัตว์ทะเล

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการคิดค้นวิธีการอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การสร้างแหล่งอาศัยทางทะเล หรือ ปะการังเทียม เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่หลบภัย แหล่งอาหาร แหล่งเพาะพันธุ์ และอนุบาลลูกสัตว์ทะเล

ปะการังเทียม

ปะการังเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้นจากวัสดุที่หลากหลาย แต่ใครจะเชื่อว่า “ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า” ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว จะสามารถนำมาสร้างเป็นบ้านปลาได้

วิศิษฎ์ ปฐมเจริญโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงการดำเนินโครงการบ้านปลาปะการังเทียมว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ดำเนินโครงการวางบ้านปลาปะการังเทียม ด้วยลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ของรัฐบาล

กฟผ. ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร นำ “บ้านปลา กฟผ.” ไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทยตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2554 โดยวางครั้งแรกที่ตำบลแสมสาร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี จากนั้นนำไปวางในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา และภูเก็ต รวมทั้งหมดกว่า 3,100 ชุด และจะเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายพันธมิตร อาทิ กองทัพเรือ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกันพิจารณาเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ในการวาง ปะการังเทียม ต่อไป เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งทะเล ให้มีความอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน ปะการังเทียมเหล่านั้น กลายเป็นป่าใต้ทะเลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปะการัง และสัตว์ทะเลนับล้านชีวิต โดยเกาะทะลุเป็น 1 ในจุดวาง บ้านปลา กฟผ. ซึ่งวางครั้งแรกเมื่อปี 2558 ทุกวันนี้ที่เกาะทะลุมีสวนป่าใต้ทะเล ที่ช่วยนำทางฝูงปลาที่เคยหายไป กลับมาอยู่ที่นี่อีกครั้ง

20200826 ART01 08

ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าส่วนใหญ่ ทำมาจากวัสดุที่มีส่วนประกอบของเซรามิก ที่มีความสอดคล้องกับโครงสร้างหินปูน ที่เกิดจากการสร้างตัวของปะการัง โดยผลการศึกษาผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางทะเล ของมหาวิทยาลัยนเรศวร พบว่า โครงสร้างของลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม

จากผลการวิจัย “โครงการทดสอบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าภายใต้สภาวะจำลองสภาพแวดล้อมทางทะเล” ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ พบว่า ลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไม่ส่งผลเสียต่อคุณภาพน้ำทะเล เพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง และไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมทางทะเลแต่อย่างใด

ขณะที่ ไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล่าถึงภาพใต้ท้องทะเลหลังจากลงไปดำน้ำสำรวจบริเวณเกาะทะลุว่า บริเวณบ้านปลา กฟผ. มีสัตว์ทะเลหลากชนิดเข้ามาอาศัยอยู่ ทั้งปลาเศรษฐกิจ และปลาสวยงามขนาดใหญ่ รวมทั้งลูกปลาขนาดเล็ก ที่ซ่อนตัวอยู่ด้านในเพื่อหลบภัย

ที่สำคัญคือ มีปะการังจำนวนมากมายึดเกาะ และเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี สังเกตว่า ปะการังสามารถเจริญเติบโตและเคลือบลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ได้อย่างรวดเร็ว

ปกติแล้วปะการัง 1 ตารางฟุต (30×30 เซนติเมตร) จะต้องใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโตนาน 500-600 ปี แต่กลับสามารถเจริญเติบโตบนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ได้ถึงปีละ 2-3 เซนติเมตร รวมทั้งยังมีสัตว์ทะเลอีกหลายชนิด แวะเวียนเข้ามาหาอาหาร บริเวณจุดวางบ้านปลาแต่ละแห่ง เป็นจำนวนมากด้วย

ปะการังเทียม

การเก็บข้อมูลการทำประมงของชาวประมงในพื้นที่พบว่า เริ่มมีปลาเศรษฐกิจหายากหลายชนิดที่เคยหายไปถูกจับขึ้นมาได้มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะขายได้ในราคาสูง บ่งชี้ให้เห็นถึงความสมบูรณ์ และความหลากหลาย ของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลบางสะพานน้อย ที่ได้รับการดูแล และฟื้นฟูจนกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น ทำให้ปลาที่เคยหายไปพากันกลับมา สร้างประโยชน์ให้แก่ชาวประมงที่นี่อีกครั้ง

ขณะที่ นิตยา รักษาราษฎร์ ประมงอำเภอบางสะพานน้อย เล่าเสริม ปลาที่เคยหายไป กลับมาเพราะความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติใต้ทะเล ที่ในอดีตก็เคยหายไปเช่นกัน

วันนี้ปะการังเติบโตและงดงาม สัตว์ทะเลหลากหลายชนิดแหวกว่ายให้นักดำน้ำยลโฉมอย่างไม่เขินอาย คนไทยมีปลาทูไทยแท้ กินกับน้ำพริกกะปิผักต้ม ชาวบ้านมีรายได้จากการท่องเที่ยว ชาวประมงจับปลาไปขายได้มากขึ้น

บ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างสุดกำลัง เป็นของที่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อดูแลและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล แต่หากคนไทยทุกคนร่วมกันปกป้อง และอนุรักษ์ทะเลไทยอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ แน่นอนว่า ทั้งปลาและป่าใต้ทะเลจะไม่มีวันหายไป จากทะเลไทยอีกแน่นอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo