Environmental Sustainability

เจาะภารกิจ ‘บำรุงรักษาเครื่องกล’ สร้างความมั่นคง ‘ไฟฟ้าไทย’

 

คงจะมีน้อยคนนักที่รู้ว่า “การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับ “ไฟฟ้าไทย” เป็นงานที่ต้องใช้ความละเอียดละอออย่างมาก  ถึงขั้นที่เรียกว่า เพียงแค่ถอดชิ้นส่วน อุปกรณ์ต่างๆ หรือน็อตออกมา ทีละชิ้น ก็ใช้เวลาเป็นวันๆ แล้ว

นอกจากนี้ การที่อุปกรณ์ผลิตไฟฟ้า มีขนาดใหญ่ ติดตั้งอยู่ในพื้นที่จำกัด รวมทั้ง ต้องได้รับการตรวจสอบ และบำรุงรักษา เพื่อดูแลป้องกันความเสียหาย ซึ่งจะส่งผลต่อความพร้อม ในการจ่ายไฟ และประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้านั้น  ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ของฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล

กฟผ02 01

นายนัฐวุธ พิริยะจิตตะ ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  กล่าวถึง ภารกิจของฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล ที่ทำหน้าที่ดูแลโรงไฟฟ้า กฟผ. โรงไฟฟ้าเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ว่า เป็นเหมือนการตรวจสุขภาพของมนุษย์ ที่ต้องคอยตรวจเช็คเป็นประจำทุกปี เพื่อดูแลสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย

ในขณะที่การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า คือ การตรวจสอบ ซ่อมแซม เปลี่ยน และปรับปรุงอุปกรณ์ตามวาระที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ หรือ งานบำรุงรักษาฉุกเฉินของอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงไฟฟ้า ถือเป็นหนึ่งในภารกิจสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ.  เติมเต็มงานบำรุงรักษาให้ครบวงจร

งานซ่อมบำรุงรักษา เพื่อร่วมกันดูแลการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้สมบูรณ์และมีความพร้อมมากที่สุด  เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ระหว่าง

  • ฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล (อบค.)
  • ฝ่ายบำรุงรักษาไฟฟ้า (อบฟ.)
  • ฝ่ายโรงงาน และอะไหล่ (อรอ.)
20200929 ART01 14
นัฐวุธ พิริยะจิตตะ

บำรุงรักษาเครื่องกล สร้างความมั่นคง ไฟฟ้าไทย 

การบำรุงรักษาเครื่องกล คือ การตรวจสอบสภาพความเสียหายของเครื่องจักร และเครื่องกลในโรงไฟฟ้า ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก ยกตัวอย่างเช่น เครื่องกังหันแก๊ส (Gas Turbine & Compressor), หม้อไอน้ำ (Boiler), เครื่องกังหันไอน้ำ (Steam Turbine), วาล์วไอน้ำแรงดันสูง (Main Steam Valve), ระบบน้ำมันหล่อลื่น (Lubrication System), ระบบหล่อเย็น (Cooling System)  และหอหล่อเย็น (Cooling Tower)

เป็นการบำรุงรักษาโดยการคาดการณ์อายุการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ ผ่านข้อมูลต่างๆ เช่น ค่าการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร , อุณหภูมิ และการบำรุงรักษาอุปกรณ์ตามวาระที่ผู้ผลิตกำหนด เพื่อให้เครื่องจักร และอุปกรณ์เครื่องกล ในโรงไฟฟ้ามีสภาพสมบูรณ์ พร้อมใช้งาน ส่งผลให้การเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ถือเป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่ง สำหรับการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า

20200929 ART01 02

20200929 ART01 04

เตรียมงาน 1 ปี กว่าจะลงมือทำ 

การบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหนึ่งครั้ง จะมีการกำหนดวัน เวลา หยุดเดินเครื่อง ตามสัญญาการจ่ายกระแสไฟฟ้า ที่จัดทำขึ้นร่วมกับศูนย์ควบคุมกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ และกำหนดภาระงานทั้งหมด ที่ต้องการบำรุงรักษา จากผู้ดูแลโรงไฟฟ้านั้นๆ ก่อน

จากนั้นฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล มีหน้าที่ตั้งแต่จัดสรรงาน ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการเวลา บริหารจัดการกำลังคน เครื่องมือ และอะไหล่ที่ใช้สำหรับการบำรุงรักษา เป็นแผนการบำรุงรักษา ในส่วนของเครื่องกลให้พร้อม โดยวิศวกรผู้ควบคุมงาน

ขั้นตอนการเตรียมงานนี้  ต้องใช้เวลาดำเนินการล่วงหน้ากว่า 1 ปี จากนั้นเมื่อถึงกำหนดเข้าทำงานบำรุงรักษา วิศวกรผู้ควบคุมงาน จะต้องคอยดูแลการบำรุงรักษา ซึ่งปฏิบัติงานโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ให้เป็นไปตามแผน ไม่ให้เกิดความล่าช้า  เพราะอาจจะส่งผลต่อกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศได้

20200929 ART01 03

ไฟฟ้าไทย

งานที่ท้าทาย 

ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการ หรือขั้นตอนการทำงานใดๆ ถือเป็นความท้าทายทั้งสิ้น เช่น การถอดและประกอบ Rotor (โรเตอร์) หรือ เครื่องจักรขนาดใหญ่ น้ำหนักเกือบร้อยตัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนเครื่องจักร และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้

ทั้งการผลิตไฟฟ้าด้วยกังหันไอน้ำ (Steam Turbine) และกังหันก๊าซ (Gas Turbine) การที่จะถอดเครื่องจักรขนาดใหญ่เช่นนี้ออกมา เพื่อบำรุงรักษา แน่นอนว่า เครื่องจักรขนาดเกือบร้อยตัน มนุษย์เราไม่สามารถยกชิ้นส่วนนี้ได้ด้วยตนเอง ต้องอาศัยเครน ผนวกกับความเชี่ยวชาญ ในการยกอุปกรณ์ของทีมผู้บำรุงรักษา เป็นตัวแปรสำคัญในการทำงานให้สำเร็จ

สำหรับอุปกรณ์ Rotor นั้น ทีมบำรุงรักษาต้องใช้เวลา 7 วัน  ถึงจะถอดอุปกรณ์ออกมาได้ ซึ่งปกติแล้ว Rotor จะถูกปิดด้วยฝา (Casing) ที่มีขนาดใหญ่ และหนักเช่นเดียวกัน ทีมจึงต้องใช้เครนยก Casing และส่วนประกอบต่างๆ ออกมาก่อน จากนั้นจึงจะยก Rotor ตามออกมาทีหลัง

20200929 ART01 10

ไฟฟ้าไทย

แต่สิ่งที่ท้าทายในการยก ก็คือ ต้องทำงานด้วยความปลอดภัยที่สุดกับ ทั้งอุปกรณ์ และทีมงานทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องค่อยๆ ปรับตั้งระดับ และปรับตั้งระยะระหว่างชิ้นส่วนที่อยู่นิ่ง และชิ้นส่วนที่หมุนทีละนิด

บางจุดมีระยะห่างกันน้อยกว่า 1 มิลลิเมตร ซึ่งใช้เวลานานมาก เพราะต้องใส่ใจ และระมัดระวังในขั้นตอนเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีกันของชิ้นส่วน ถือเป็นความพิถีพิถันที่ทีมบำรุงรักษาต้องให้ความสำคัญขั้นตอนหนึ่งเลยทีเดียว

ขณะเดียวกันต้องคอยดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย โดยจะมีหัวหน้าทีมคอยดูแล และให้สัญญาณ ไม่ให้ผู้ใดเข้าใกล้อุปกรณ์ ขณะทำการยก รวมถึงการคาดการณ์ว่า จะเกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อ บำรุงรักษาเครื่องกล ตามแผนงานที่วางไว้แล้ว การดำเนินการประกอบชิ้นส่วนกลับไปเช่นเดิม ก็เป็นความท้าทาย ไม่ต่างจากตอนถอดออกมา เนื่องจากต้องปรับตั้งระดับระหว่าง Rotor และ Casing ทั้งหมด ตลอดความยาวของ Rotor ให้อยู่ในระนาบเดียวกัน แต่ไม่สัมผัสกัน เพื่อทำให้ขณะเดินเครื่องแล้ว ไม่เกิดความร้อนที่ผิดปกติ ไม่เกิดการสั่นที่มากเกินไป และไม่เกิดการรั่วของไอน้ำแรงดันสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงตามมาได้

ดังนั้น ในขั้นตอนประกอบชิ้นส่วนนี้ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง และความเชี่ยวชาญเป็นอย่างสูง

ไฟฟ้าไทย

ไฟฟ้าไทย

ต้องตรงตามแผน-ตามเวลากำหนด 

การทำงานให้ตรงตามแผน และทำงานภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ สิ่งสำคัญสำหรับโรงไฟฟ้า ที่เป็นกำลังหลักของประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ โรงไฟฟ้าพระนครใต้ และโรงไฟฟ้าบางปะกง ที่มีกำลังการผลิตสูง ส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ มักมีเวลาจำกัดในการบำรุงรักษา ผู้ปฏิบัติงานต้องบำรุงรักษาตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในส่วนของวิศวกร และช่างบำรุงรักษา

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลามีอยู่อย่างจำกัด จึงต้องมีการเพิ่มกำลังคน ให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยการจ้างบริษัทจ้างเหมา ภายใต้การควบคุมงานจากทีมบำรุงรักษา มาช่วย ในส่วนงานที่ภาระงานไม่หนักมากจนเกินไป หรือเป็นงานที่สามารถทำได้ง่าย

แต่ในส่วนงานที่มีความยาก และใช้เทคนิคเฉพาะทาง จำเป็นต้องใช้ผู้ปฏิบัติงานของ กฟผ. ซึ่งมีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญสูง เป็นผู้ดำเนินการบำรุงรักษาเท่านั้น

ระหว่างบำรุงรักษา วิศวกรควบคุมงานต้องคอยดูแลให้การทำงานตรงตามเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งงานแล้วเสร็จ จึงจะมีการสรุปผลการทำงาน จัดทำเล่มรายงาน นำเสนอแก่โรงไฟฟ้านั้นๆ

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงงานส่วนเล็กๆ ของฝ่าย บำรุงรักษาเครื่องกล ที่แสดงให้เห็นถึงความพิถีพิถัน ผสานกับประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ ที่ได้สั่งสมมาเป็นเวลานาน เพื่อบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าให้มีความพร้อมจ่ายสูงสุด มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ทั้งยังได้ความเชื่อมั่นของอุปกรณ์

จนกล่าวได้ว่า ฝ่าย บำรุงรักษาเครื่องกล กฟผ. ถือเป็นหนึ่งในผู้บำรุงรักษาเครื่องกลชั้นนำของธุรกิจอุตสาหกรรมไฟฟ้าในระดับภูมิภาคอาเซียนในปัจจุบัน และมุ่งมั่นที่จะยังคงเป็นผู้นำด้านการบำรุงรักษาเครื่องกล ในอนาคตต่อไปอีกด้วย

ไฟฟ้าไทย

ไฟฟ้าไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo