Environmental Sustainability

‘เดินเครื่อง-บำรุงรักษาระยะไกล’ ก้าวใหม่ ‘โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ’

 

โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ : การเข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ของ “เทคโนโลยี ดิจิทัล” นั้น เป็นทั้งการสร้างโอกาสครั้งใหญ่ สำหรับผู้ที่สามารถปรับตัวได้ทัน แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นปัญหาอย่างรุนแรง ต่อแนวคิดเดิมๆ ที่หากไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ก้าวทัน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ก็อาจส่งผลร้ายถึงขั้น ต้องปิดกิจการกันเลยทีเดียว 

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะองค์กรหลัก ที่รับผิดชอบด้านการผลิต และดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี จึงมุ่งมั่นเดินหน้าปรับตัวศึกษา และพัฒนานวัตกรรม นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ” โดยนำระบบเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกล มาใช้ในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน

S 44343313

“โรงไฟฟ้าท่าทุ่งนา” เป็นโครงการนำร่องโรงไฟฟ้าดิจิทัล ประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ของ กฟผ. ซึ่งได้เปิดใช้งานห้องควบคุมระบบเดินเครื่อง และบำรุงรักษาระยะไกลอย่างเป็นทางการ ไปเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา

โดยได้ติดตั้งระบบควบคุมเดินเครื่องระยะไกล สำหรับ โรงไฟฟ้า ขนาดเล็ก และ โรงไฟฟ้า ท้ายเขื่อนชลประทาน ในสังกัดเขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 5 เขื่อน

  • โรงไฟฟ้า เขื่อนท่าทุ่งนา จังหวัดกาญจนบุรี
  • โรงไฟฟ้า เขื่อนแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี
  • โรงไฟฟ้า เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
  • โรงไฟฟ้า เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก
  • โรงไฟฟ้า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี

จากนั้นเตรียมขยายผลนำไปติดตั้งใช้งานที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนชลประทาน ในพื้นที่ภาคเหนือในปี 2564 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี 2565 ต่อไป

20201102 ART01 08

ชวลิต กันคำ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์-1 (ช.อขศ-1.) หัวหน้าคณะทำงานกลยุทธ์ด้านดิจิทัล และนวัตกรรม ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อธิบายว่า ระบบเดินเครื่อง และบำรุงรักษาระยะไกล เขื่อนท่าทุ่งนา นี้ เป็นการรวมศูนย์ควบคุม และติดตามการทำงาน ของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนชลประทาน ในสังกัดเขื่อนศรีนครินทร์ ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลจากระบบควบคุมในโรงไฟฟ้าต่างๆ สู่ห้องควบคุมระยะไกล ที่เขื่อนท่าทุ่งนา

ระบบจะแสดงผลที่เกิดขึ้นตามเวลาจริง (Real time Monitoring) สามารถควบคุมการทำงาน และเก็บข้อมูล ผ่าน ระบบโครงข่ายที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Cyber Security) ช่วยลดเวลา และลดค่าใช้จ่ายการเดินทางของพนักงานบำรุงรักษา ของเขื่อนท่าทุ่งนา และเขื่อนศรีนครินทร์ ในการเข้าไปตรวจสอบที่พื้นที่โรงไฟฟ้า ที่อยู่ห่างไกลออกไป

พนักงานบำรุงรักษาสามารถให้คำแนะนำ การตรวจสอบแก้ไข ไปยังพนักงานที่อยู่ประจำโรงไฟฟ้าได้ ผ่านการติดตาม และวิเคราะห์ข้อมูล จากระบบในห้องควบคุมระยะไกลได้โดยตรง

ปัจจุบัน การควบคุม และบำรุงรักษาระยะไกล มีการใช้งานอยู่แล้วในทุกพื้นที่ แต่มีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งวิธีการควบคุม และการจัดเก็บข้อมูล

โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ

การออกแบบและพัฒนาครั้งนี้ จึงเป็นการปรับให้การควบคุมและการจัดเก็บข้อมูล อยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มเดียวกันทั้งโรงไฟฟ้า ที่มีใช้งานอยู่ และโรงไฟฟ้าจะที่ติดตั้งเพิ่มเติม การติดตั้งระบบจึงมีต้นทุนที่ต่ำ เพราะไม่ได้เป็นการติดตั้งทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานอยู่

การควบคุมจึงเป็นการออกแบบหน้าจอควบคุมร่วม (Common HMI) เพื่อให้หน้าจอห้องควบคุมโรงไฟฟ้า ที่ใช้งานห้องควบคุมระยะไกลแต่ละแห่ง มีรูปแบบเดียวกัน ทำให้พนักงานประจำศูนย์ควบคุมระยะไกล ใช้งานได้สะดวก และเพิ่มส่วนที่จำเป็น คือ การจัดเก็บข้อมูลรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลสถานะ และสมรรถนะของโรงไฟฟ้า

ข้อมูลที่ได้ จะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสนับสนุน และคาดการณ์การบำรุงรักษาในอนาคต

ระบบควบคุมระยะไกลนี้ ไม่ได้มีเป้าหมาย เพื่อทดแทนพนักงานเดินเครื่องประจำโรงไฟฟ้า แต่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อมูล  เพื่อนำไปพัฒนาเป็นผู้ช่วยพนักงานเดินเครื่อง และพนักงานบำรุงรักษา ในการตรวจติดตามขั้นตอนต่างๆ ที่ทำงานผิดปกติ หรือเบี่ยงเบนไปจากค่ามาตรฐานปกติ เพื่อเฝ้าระวัง วิเคราะห์ และแก้ไข ก่อนเกิดความเสียหาย ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต

ห้องควบคุมระบบเดินเครื่อง และบำรุงรักษาระยะไกลนี้อยู่ในระยะที่ 2 ของแผนงานดิจิทัล (Digital Roadmap) ซึ่งประกอบด้วย

  • ระบบติดตามสมรรถนะของอุปกรณ์ (Performance Monitoring)
  • การรวมศูนย์ระบบการเดินเครื่องระยะไกล (Remote Control System)
  • ระบบสนับสนุนงานบำรุงรักษา(Maintenance Support System)

โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ

ในปี 2564 จะนำข้อมูลที่ได้รับไปสร้างโมเดลพยากรณ์ หรือคาดการณ์ความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อนำไปวางแผนการบำรุงรักษา (Maintenance Management) จัดเตรียมอะไหล่ ตลอดจนบริหารบุคลากรและทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม

ระยะสุดท้าย ปี 2565 จะนำ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และ Robotics มาปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อควบคุมการเดินเครื่องบำรุงรักษาให้เหมาะสมหรือเกิดประโยชน์สูงสุด สามารถดำเนินงานได้เองโดยอัตโนมัติ (Self-Optimizing) ทั้งทางด้านประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management)

“โรงไฟฟ้าดิจิทัล” ในมุมมองของ “ชวลิต” ไม่มีคำนิยามที่ตายตัวว่า ต้องติดตั้งระบบอะไรจึงจะเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัล เพราะโรงไฟฟ้าดิจิทัล ขึ้นอยู่บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล และแนวคิด

โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ

การขยายผลของ โรงไฟฟ้าดิจิทัลพลังน้ำ จึงมุ่งไปที่การเป็น RE Digital Plant Sandbox คือ จัดหาเครื่องมือ และพัฒนาบุคลากร เพื่อเรียนรู้ และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล มากกว่าการจัดหาผลิตภัณฑ์มาใช้งาน  มุ่งเน้นให้โรงไฟฟ้าเป็นสถานที่เรียนรู้ ที่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ ในการทดลองทำงาน และพัฒนากระบวนการทำงาน เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการผลิต

ถือเป็นโอกาส และความท้าทาย ที่จะนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ กระบวนการทำงานเดินเครื่อง และบำรุงรักษาที่มีอยู่เดิม ให้สามารถทำงานได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดระยะเวลา และลดต้นทุนการผลิต สามารถรองรับบุคลากร ที่จะลดลงจากการเกษียณอายุการทำงานในอนาคตได้

ขณะเดียวกัน ต้องรักษาประสิทธิภาพการทำงาน (Performance) ให้อยู่ในระดับสูงเช่นเดิม เพื่อรองรับความต้องการด้านพลังงาน สร้างความมั่นคงด้านพลังงานของไทยได้ต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo