Business

รับมือภัยแล้ง เกษตรฯวางแผนชัด เพาะปลูกอะไรบ้าง ในพื้นที่ 5.12 ล้านไร่ อ่านที่นี่

รับมือภัยแล้ง กระทรวงเกษตรฯ วางแผนรับมือ ป้องกัน บรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร กำหนดแผนเพาะปลูกพื้นที่การเกษตร ทั่วประเทศ 5.12 ล้านไร่  พร้อมมาตรการช่วยเหลือ

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุม ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ด้านเกษตร โดยคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563/64  จะมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำ หากมีการใช้น้ำในแต่ละส่วน ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ จึงต้องวางแผนเพื่อเตรียมการ รับมือภัยแล้ง

รับมือหน้าแล้ง

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม ในการป้องกัน และลดผลกระทบ จากสถานการณ์ภัยแล้ง ที่จะเกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำ (ร่าง) แผนป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 สำหรับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินงาน ของหน่วยงานราชการ ในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ภัยพิบัติด้านเกษตร

พร้อมกันนี้ ได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยใช้กรอบแนวคิด “Smart DRM for 3s : SEP – SDGs – SEDRR” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัยแบบครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งจะเสนอ (ร่าง) แผนดังกล่าว เข้าคณะอนุกรรมาธิการฯ ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณา แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2563/64 และได้กำหนดแผน นโยบาย และมาตรการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยมีแผนการเพาะปลูกทั่วประเทศ จำนวน 5.12 ล้านไร่ แบ่งเป็น  ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 2.61 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 1.12 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 1.49 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 2.51 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.97 ล้านไร่)

สำราญ สาราบรรณ์
สำราญ สาราบรรณ์

สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด จำนวน 1.04 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.48 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน – ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.56 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.50 ล้านไร่)

ขณะที่ ลุ่มน้ำแม่กลอง จำนวน 0.30 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.02 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน – ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่) พืชไร่พืชผัก จำนวน 0.28 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.21 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่)

อย่างไรก็ตาม ด้านการจัดสรรน้ำ ได้มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการอุปโภค – บริโภค การรักษาระบบนิเวศ การสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ด้านเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับของความสำคัญ

สำราญ สาราบรรณ์1

สำหรับสถานการณ์น้ำใน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 48,380 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 64% ของความจุอ่างฯ) ปริมาณน้ำใช้การได้ 24,451 ล้าน ลบ.ม. (หรือ 47% ของความจุน้ำใช้การ)

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของน้ำใช้การ จำนวน 2 แห่ง คือ ภูมิพล แม่มอก ปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง (1 พฤศจิกายน 2563 – ปัจจุบัน) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 1,512.01 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 403.89 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2563)

ในส่วนของสภาพอากาศในขณะนี้พายุดีเปรสชั่น “เอตาว” (พายุระดับ 2) ได้อ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้วบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกของประเทศไทยมีฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง (ข้อมูล ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2563)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo