Environmental Sustainability

‘ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.’ ชวนกลับมาเปิด ‘พลังงานไฟฟ้า’ แบบ ‘New Normal’

หลังจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19  ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย “ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั่วประเทศ” จึงกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ภายใต้วิถี New Normal เพื่อให้ผู้เข้าใช้บริการทุกคน สามารถเข้าท่องโลกพลังงานสุดล้ำได้อย่างปลอดภัย และไร้กังวล

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เปิดให้บริการภายใต้แนวคิด “Back to the New Normal : กลับมาเจอกันที่เดิม…ด้วยวิถีชีวิตแบบใหม่”  โดยมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแนวปฏิบัติของภาครัฐ เพื่อความปลอดภัย

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

  • จัดตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดไข้
  • ให้บริการเจลแอลกอฮออล์
  • สวมใส่หน้ากากอนามัย ขณะเข้าเยี่ยมชมภายในศูนย์การเรียนรู้
  • ปรับรูปแบบการนำชมเป็นกลุ่มย่อยไม่เกิน 10 คนต่อกลุ่ม เพื่อรักษาระยะห่าง และลดความแออัดภายในศูนย์การเรียนรู้
  • ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาดอุปกรณ์สื่อนิทรรศการ ที่มีการสัมผัส ทุกครั้งหลังการเยี่ยมชมเสร็จสิ้น และบริเวณที่มีการสัมผัสบ่อย ๆ เช่น ประตู และราวบันได ทุก 1-2 ชั่วโมง
  • ต้องจองรอบการเข้าชมล่วงหน้า

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. 6 แห่งทั่วประเทศไทย สามารถเข้าชมได้ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งแต่ละแห่ง ต่างก็มีจุดเด่นแตกต่างกันไป มาทำความรู้จักศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทั้ง 6 แห่ง ไปพร้อมๆ กัน

1594189059278

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง นนทบุรี

ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ตั้งอยู่เชิงสะพานพระราม 7  ที่นี่มีมาสคอตประจำศูนย์การเรียนรู้ “Power” และ  “Happy”  พาทุกคนไปจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ไปกับการผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า  มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการจัดนิทรรศการ สื่อการเรียนรู้ ตลอดจนเกม ที่มีความแปลกใหม่ และสร้างสรรค์

ศูนย์แห่งนี้ขึ้นชื่อว่าเป็น “นิทรรศการพลังงานไฟฟ้าที่ใหญ่ และทันสมัยที่สุดในประเทศไทย”

นอกจากนี้  ยังมีการจัดกิจกรรม สนุกๆ ให้เข้าร่วมได้ตลอดทั้งปี สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ Fanpage Facebook ของทางศูนย์ฯ ได้

ในอนาคตอันใกล้จะมีการพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้กลายเป็น “EGAT Energy Excellence Center”  ซึ่งสามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าได้ ในพื้นที่ของตัวเอง โดยใช้พลังงานหมุนเวียน ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน ควบคู่ไปกับการนำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Microgrid) มาใช้  ช่วยยกระดับศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย และครบเครื่องเรื่องพลังงาน

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง นครราชสีมา

พื้นที่ลำตะคองเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด ทั้งโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ โครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้า และเทคโนโลยี Wind Hydrogen Hybrid

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง จึงมีจุดเด่นด้านการเรียนรู้เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียน รวมไปถึงนวัตกรรมทางด้านพลังงานต่างๆ และยังเติมเต็มความรู้ในเรื่องการผลิตไฟฟ้า จากพลังงานประเภทอื่นๆ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศด้วย

มากกว่าความสนุก คือความรู้ที่ได้จากศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง ต้องขอบอกว่า ที่นี่ถ่ายรูปลงโซเชียลแล้วสวยมากๆ เพราะจัดแสงสีเสียงภายในอาคารได้อลังการงามตา แถมที่นี่ยังใกล้สถานที่ท่องเที่ยวอย่าง อ่างเก็บน้ำลำตะคอง ที่สามารถไปปั่นจักรยานสุดชิล ชมวิวลำตะคองในมุมสูง พร้อมวิวกังหันลมยักษ์ ที่เรียงรายเป็นแถว รับรองได้เลยว่าคุ้มค่ากับการมาอย่างแน่นอน

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

ข้อมูลเพิ่มเติม

พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) เฉลิมพระเกียรติฯ ลำปาง

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าคือ  “ถ่านหิน” จากเหมืองแม่เมาะ

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงมุ่งการนำเสนอถึงความสําคัญของพลังงานจากถ่านหิน ที่มีต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ เข้าใจถึงกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และมาตรการในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชนอย่างใส่ใจ รวมไปถึงการดูแล และพัฒนาชุมชน เพื่อสามารถอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

สิ่งสำคัญที่พลาดไม่ได้เมื่อมาถึงที่นี่ ก็คือ การถ่ายรูปกับทีเร็กซ์ หรือ รถยักษ์ที่ใช้ในการทำเหมือง ซึ่งตัวคนจะสูงแค่ครึ่งล้อของทีเร็กซ์เท่านั้น เมื่อมาเห็นจะรู้ว่า โรงไฟฟ้าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แถมวิว และบรรยากาศสวยมากอีกด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์

ขยับลงไปทางภาคใต้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะทำให้รู้ว่า กว่าจะเป็นไฟฟ้าให้ใช้กันนั้น ต้องผ่านอะไรมาบ้าง และรู้ว่า การพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนนั้น จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีการอยู่ร่วมกับชุมชน

ภายในศูนย์จะมีการเล่าถึงวิถีชิวิตชาวชุมชนทับสะแก และภาพในอนาคตที่ชาวทับสะแกอยากให้เกิดขึ้น

ใครที่มาที่นี่ จะได้ทั้งความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้วิถีชุมชนดั้งเดิมของชาวทับสะแก แต่ก่อนจะจากที่นี่ไป ต้องไม่พลาดขึ้นหอคอยจุดชมวิว ไปชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทับสะแก ที่ได้รวบรวมเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ชนิด มาไว้ที่นี่

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี

ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชปณิธานงานอนุรักษ์ทรัพยากร ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กฟผ. จึงได้เปิดศูนย์การเรียนรู้ราชานุรักษ์ กฟผ. เขื่อนศรีนครินทร์ขึ้น โดยมุ่งนำเสนอถึงความสำคัญของพื้นที่บริเวณเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ป่าธรรมชาติผืนใหญ่แห่งสุดท้ายของประเทศ และสร้างการตระหนัก ถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และพลังงานจากธรรมชาติด้วย

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. จะนะ สงขลา

ศูนย์แห่งนี้ เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานแห่งแรกของภาคใต้  บอกเล่าประวัติ และที่มาของพลังงานตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ไปจนถึงอนาคตว่า ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร มาจากเชื้อเพลิงอะไรบ้าง และแต่ละแหล่งมีข้อดี ข้อจำกัดอย่างไร

นอกจากนี้ ยังนำเสนอเรื่องราวของชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะของชาวอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในการนำเสนอเรื่องราว และข้อมูลต่างๆ นำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ และเยอรมนี ซึ่งแน่นอนว่า เป็นศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. อีกแห่งที่ไม่ควรพลาด

1594189113094

ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากศูนย์การเรียนรู้ทั้ง 6 แห่งทั่วประเทศนี้แล้ว ในอนาคต กฟผ. ยังมีแผนที่จะก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. เพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ กฟผ. แม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. แม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงความรู้ด้านพลังงาน และร่วมเรียนรู้ว่า เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใกล้ตัว และไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด

1594189114645

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ประสงค์เข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ทุกแห่ง ต้องจองรอบการเข้าชมล่วงหน้าทางโทรศัพท์ พร้อมกรอกแบบฟอร์มแสดงรายชื่อ เบอร์โทร และลงทะเบียนการเข้า – ออก สถานที่ผ่านแพลตฟอร์มไทยชนะ หรือเอกสารที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้

ภายหลังเข้าชมครบ 14 วัน เจ้าหน้าที่ศูนย์การเรียนรู้ จะติดตามอาการของผู้เข้าชมอีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถศึกษากฎระเบียบการเข้าชมอย่างละเอียดได้ทางเว็บไซต์ www.egat.co.th/learningcenter หรือ เฟซบุ๊กแฟนเพจของศูนย์การเรียนรู้แต่ละแห่ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo