General

‘หมอยง’ ชี้ ‘RSV’ ยังระบาดหนักในเด็กเล็ก เตือน ‘ไม่มียารักษา-วัคซีน’ ต้องดูแลสุขอนามัย

“หมอยง” โพสต์เตือนภัย “ไวรัส RSV” ยังระบาดหนักในกลุ่มเด็กเล็ก ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง เตือน ต้องรักษาตามอาการ ไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน  ต้องดูแลเรื่องสุขอนามัย ระบุ หากมีเด็กป่วยหลายราย ควรปิดชั้นเรียน

วันนี้ (4 พ.ย.) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเพจ “นพ.ยง ภู่วรวรรณ” ให้ความรู้ และเตือนภัยเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส RSV โดยระบุว่า

ไวรัส RSV

RSV (Respiratory Syncytial Virus)

RSV ยังพบมีการระบาดอย่างมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สายพันธุ์ที่พบในปีนี้เป็น RSV-A ทั้งหมด ซึ่งต่างกับปีที่แล้ว พบทั้ง 2 สายพันธุ์คือ A และ B สายพันธุ์ย่อยของ A ที่พบจะเป็น ON1

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้แล้วเป็นอีกได้ จึงไม่แปลก ที่เมื่อปีที่แล้วเป็น ปีนี้ก็มีโอกาสเป็นได้อีก การระบาดเริ่มเกิดขึ้น หลังจากที่มีการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ โดยพบมากในเด็กอนุบาล ตั้งแต่เดือนกันยายน มาจนถึงปัจจุบันแนวโน้มของโรคยังไม่ลดลง

เมื่อเปรียบเทียบกับทุกปี ปีนี้จะมีการระบาดช้ากว่า อาการสำคัญคือ มีไข้ และอาการของระบบทางเดินหายใจ ในเด็กที่มีอาการมาก จะมีอาการหลอดลมอักเสบ ทำให้หายใจเร็ว หรือหอบ ในเด็กเล็กที่น้อยกว่า 1 ปีอาจมีอาการปอดอักเสบร่วมด้วยได้

โรคนี้ไม่มียารักษา จะรักษาตามอาการ หายได้เอง ปัจจุบันไม่มีวัคซีนในการป้องกัน การป้องกันดีที่สุด คือดูแลเรื่องสุขอนามัยในเด็กเล็ก การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กโต และผู้ใหญ่มีความจำเป็น เพราะเกิดได้กับทุกวัย แต่ในเด็กเล็กจะมีอาการมาก ทุกคนดูแลตัวเอง จะป้องกันไม่ให้นำเอาเชื้อโรคไปสู่เด็กเล็ก

การติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาล เด็กที่ป่วย หรือไม่สบาย เกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ ไม่ควรไปโรงเรียน เด็กอนุบาล ที่อยู่รวมกันดูแลสุขอนามัย สถานที่ให้มีอากาศถ่ายเทได้ดี ทำความสะอาดเครื่องใช้ ของเล่นอยู่เป็นนิจ ถ้ามีการระบาด หรือมีผู้ป่วยหลายรายควรปิดชั้นเรียน

ทำความรู้จัก ไวรัส RSV

ก่อนหน้านี้ พญ.โสภิดา บุญสาธร สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ผ่าน เพจ “RAMA CHANNAL” ถึงโรคที่เกิดจาก ไวรัส RSV พร้อมแนะวิธีการรักษา ป้องกัน ดังนี้

ไวรัส RSV คืออะไร

ไวรัส RSV(Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุของ การติดเชื้อทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้ร่างกายผลิตเสมหะออกมาจำนวนมาก

ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัส RSV สามารถ ติดเชื้อได้ ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยส่วนมากมักเกิดกับเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 3 ปี ซึ่งเชื้อไวรัสชนิดนี้มีมานานหลาย 10 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันเริ่มมาเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น เนื่องจาก มักจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงในเด็กเล็ก

สาเหตุและการติดเชื้อ

เชื้อไวรัส RSV เป็นเชื้อไวรัส ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม ภายนอกร่างกาย มักติดต่อผ่านทางการ ไอ จาม รวมถึงการสัมผัสโดยตรงจากสารคัดหลั่ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากการสัมผัส

ปัจจุบัน เปอร์เซ็นต์การเสียชีวิต ของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV โดยตรงนั้นน้อยมาก เพราะไวรัส RSV ไม่ใช่เชื้อโรคที่ร้ายแรง หากเด็กได้รับเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคจะอยู่ที่ประมาณ 5 วัน ซึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สามารถติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ หากเกิดในผู้ใหญ่หรือเด็กโตที่มีสุขภาพแข็งแรง อาการป่วยจะหายได้เอง

ไวรัส RSV

แต่หากเกิดในเด็กเล็ก ที่ภูมิคุ้มกันยังต่ำ อาจทำให้มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ขณะเดียวกันผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกัน

แต่สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ มักมาจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กมาก ๆ หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอด เด็กที่คลอดก่อนกำหนด และมีภูมิคุ้มกันต่ำ อาจจะเกิดภาวะรุนแรง ถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือเสียชีวิตได้

วิธีสังเกตอาการ

เนื่องจากการติดเชื้อระยะเริ่มต้นนั้น ใช้เวลาในการฟักตัวประมาณ 3-6 วัน หลังจากได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา เริ่มจากการมีน้ำมูก จาม ไอ ทำให้ คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองรู้ตัวช้า

ดังนั้นจึงต้องคอยสังเกตอาการ ของลูกหลานอย่างใกล้ชิด และต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มด้วย เช่น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ไอ จาม มีเสมหะในคอจำนวนมาก หายใจเหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่าหลอดลมตีบ หรือหลอดลมฝอยอักเสบ

สิ่งที่ต้องระวังสังเกต คือ เมื่อมีอาการไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบ จนชายโครงหรืออกบุ๋ม หายใจออกลำบากหรือหายใจมีเสียงวี้ด (Wheezing)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo