General

ระวัง! สธ. เจอ ‘ลูกอม-หมากฝรั่ง’ ไม่ผ่านมาตรฐาน ผสมสีอันตรายต่อร่างกาย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจ “ลูกอม-หมากฝรั่ง” ในท้องตลาด 987 ตัวอย่าง พบไม่ผ่านมาตรฐาน 9% มีสีที่สร้างอันตรายต่อร่างกาย

นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอม ทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง

ผลการตรวจพบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 9.8% โดยจำแนก ดังนี้

  • ลูกอมชนิดแข็ง

ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดแข็งละลายช้า เมื่อเคี้ยวจะแตก จำนวน 147 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง ร้อยละ 5.7 ตกมาตรฐานเนื่องจากพบสี erythrosine ในปริมาณตั้งแต่ 2.9 ถึง 18.0 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

  • ลูกอมชนิดนุ่ม

ลูกอมที่มีลักษณะเป็นเม็ดนิ่มและอ่อนตัว สามารถเคี้ยวได้ จำนวน 204 ตัวอย่าง พบไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 21 ตัวอย่าง ร้อยละ 13.9 ตกมาตรฐานเนื่องจากในจำนวนนี้พบสี erythrosine จำนวน 15 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ น้อยกว่า 1.0 ถึง 38.8 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม และสี amaranth จำนวน 6 ตัวอย่าง ในปริมาณตั้งแต่ 2.2 ถึง 23.7 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งสีทั้ง 2 ชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในลูกอม

  • หมากฝรั่ง

จำนวน 36 ตัวอย่าง ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2 ตัวอย่าง ร้อยละ 6.3 เนื่องจากพบสี quinoline yellow ซึ่งสีชนิดนี้ไม่อนุญาตให้ใช้ในหมากฝรั่ง

tic tacs 1420767 640

ทั้งนี้ สีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นวัตถุเจือปนอาหารที่มีการประเมิน ความปลอดภัยแล้ว และอนุญาตให้ใช้เติมในอาหาร แต่ปริมาณที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (เลขที่ 389) พ.ศ.2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์ แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข

จากการรวบรวมข้อมูลผลตรวจวิเคราะห์ระหว่างปี 2560-2562 ยังคงตรวจพบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ทั้งในลูกอม และหมากฝรั่ง ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานอยู่บ้าง โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น

หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง ย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ทำให้ท้องเดิน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ

สีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะอื่นๆ และอันตรายจากสารอื่น ที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร เช่น โลหะหนัก

นอกจากนี้ ส่วนประกอบหลักของลูกอม คือ น้ำตาล หากบริโภคมากเกินไปโดยเฉพาะเด็กอาจทำให้ฟันผุ หรือเป็นโรคอ้วนได้

“การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ลูกอมและหมากฝรั่ง ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าอยู่ในภาชนะบรรจุปิดสนิท ไม่มีร่องรอย ถูกเจาะหรือฉีกขาด มีฉลากแจ้งส่วนประกอบ และเลขสารบบอาหารแสดงว่าผ่านการขึ้นทะเบียน อย. แล้ว เก็บไว้ในที่เย็นไม่อับชื้น ปิดสนิทป้องกันมดแมลง”

“ไม่ควรซื้อลูกอมหรือหมากฝรั่งที่มีสีฉูดฉาด อาจมีการใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร หรือใช้สีที่มีส่วนผสม หรือปนเปื้อนโลหะหนักเคลือบผิว เพื่อให้ดูน่ารับประทาน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo