Politics

5 ขั้นตอน กับการสลายการชุมนุม!!

เฟซบุ๊กเพจ iLaw โพสต์ข้อความ แจกแจงขั้นตอน การสลายการชุมนุม ระบุชัดต้องมีเหตุตามกฎหมายและรอคำสั่งศาล
เฟซบุ๊กเพจ iLaw โพสต์ข้อความ ระบุว่า “การชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563 เป็นหนึ่งในประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อหาการชุมนุมที่ทางผู้จัดแถลงข่าวว่าจะมี “เซอร์ไพร์ส” อย่างแน่นอน อีกส่วนหนึ่งเพราะการชุมนุมนัดหมายว่า จะค้างคืนและจะมีการเดินขบวนในวันรุ่งขึ้นด้วย
ในบางพื้นที่มีการแจกจ่ายใบปลิว ให้ผู้ปกครองเตือนไม่ให้ลูกหลานไปร่วมการชุมนุมโดยอ้างเหตุความรุนแรง ขณะที่คนที่อยากไปร่วมการชุมนุมบางส่วน ก็มีความกังวลเรื่องการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม นับจากการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา ไม่ปรากฎว่ามีการชุมนุมครั้งใดที่จบลงด้วยความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยผู้ชุมนุมหรือการใช้กำลังเข้าสลายของเจ้าหน้าที่ ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หากเจ้าหน้าที่จะใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมจริง ไม่ใช่สามารถทำได้โดยทันที แต่ต้องทำเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้
สลายการชุมนุม02 01
1. การชุมนุมที่จะถูกสลาย ต้องเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 21
การชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 21 (1) ได้แก่ การชุมนุมที่ไม่สงบ ไม่ปราศจากอาวุธ ไม่มีการแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หรือไม่ได้รับอนุญาต ให้ผ่อนผันการแจ้งการชุมนุมกรณีที่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าไม่ถึง 24 ชั่วโมง หรือการชุมนุมที่ใช้สถานที่ต้องห้าม เช่น ภายในรัศมี 150 เมตร จากพระบรมมหาราชวัง หรือที่ประทับของเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือภายในพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา และศาล หรือกีดขวางทางเข้าออกหรือรบกวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หรือการใช้บริการของประชาชน ซึ่งตำรวจสั่งให้ผู้ชุมนุมแก้ไขแล้วแต่ไม่แก้ไข รวมทั้งการชุมนุมที่ยืดเยื้อเลยเวลาที่แจ้งการชุมนุมไว้
เช่น กรณีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2563 ที่มีกลุ่มประชาชนไปชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเรียกร้องการปล่อยตัวอานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก โดยไม่ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ผู้กำกับการสน.ประชาชื่นซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ได้นำคำสั่งให้เลิกการชุมนุมมาติดในพื้นที่การชุมนุมเวลา 18 นาฬิกาเศษ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้เลิกการชุมนุมภายในเวลา 20.00 น. แต่หลังการติดประกาศผู้ชุมนุมก็ดำเนินการชุมนุมต่อไปเลยเวลา 20.00 น. และผู้ชุมนุมก็สลายตัวไปเองด้วยความเรียบร้อย
ม็อบ ธรรมศาสตร์
มาตรา 21 (2) การชุมนุมสาธารณะที่ขัดต่อมาตรา 7 และ 8 เรื่องสถานที่การชุมนุม ซึ่งอาจเกิดขึ้นในภายหลัง เช่น กรณีมีผู้ชุมนุมจำนวนมากจนล้นไปถึงพื้นที่ห้ามการชุมนุมตามกฎหมาย การชุมนุมที่ขัดต่อมาตรา 15 และ16 กรณีผู้จัดไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการชุมนุม หรือมีผู้ชุมนุมพกพาอาวุธเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม หรือการชุมนุมที่ขัดต่อมาตรา 17 มีการเคลื่อนขบวนโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า
2. ตำรวจต้องประกาศให้แก้ไข หรือเลิก
การชุมนุมที่ขัดต่อมาตรา 21 (1) ตำรวจต้องประกาศให้เลิกการชุมนุมก่อน โดยต้องกำหนดเวลาที่ให้เลิกการชุมนุมไว้อย่างชัดเจน
การชุมนุมที่ขัดต่อมาตรา 21 (2) ตำรวจต้องประกาศให้ผู้จัดการชุมนุมแก้ไขให้ถูกต้องก่อน โดยต้องกำหนดระยะเวลาให้แก้ไขด้วย
ถ้าหากผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุม หรือไม่แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ตำรวจจึงจะมีอำนาจดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3. การจะสั่งให้เลิกชุมนุม ต้องร้องขอต่อศาลแพ่ง
ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา 21 เช่น ไม่เลิกหรือไม่แก้ไขการชุมนุมภายในเวลาที่กำหนด ตำรวจจะต้องไปร้องต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือพื้นที่ที่มีการชุมนุม ให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ในระหว่างที่รอคำสั่งศาล ตำรวจมีอำนาจดำเนินการ “เท่าที่จำเป็น” ตามแผนหรือแนวทางการดูแลการชุมนุมสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยการกระทำดังกล่าวต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะเท่านั้น และต้องหลีกเลี่ยงการใช้กําลัง ในกรณีที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้กําลังได้ ให้ใช้กําลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จําเป็น
หมายความว่า ระหว่างรอคำสั่งศาลหากผู้ชุมนุมมิได้ก่อภยันตรายร้ายแรงใดๆ ก็ไม่มีเงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่จะใช้กำลังสลายการชุมนุมได้ในส่วนของการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งให้เลิกการชุมนุม ฝ่ายผู้ชุมนุมเองก็มีสิทธิส่งตัวแทนไปเบิกความต่อศาล เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาทำคำสั่ง ซึ่งก็เคยมีกรณีที่ศาลสั่งคุ้มครองการชุมนุมไม่อนุญาตให้ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม อาทิ กรณีการชุมนุมของผู้คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่เกาะกลางถนนหน้าสำนักงานสหประชาชาติ ในปี 2561
เยาวชนปลดแอกม็อบ ๒๐๐๙๑๗ 0
4. ต้องติดคำสั่งศาล หรือประกาศให้ทราบก่อน
ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้เลิกการชุมนุม จะต้องกำหนดเวลาเลิกการชุมนุมไว้ในคำสั่งและเจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมจะต้องนำคำสั่งดังกล่าวมาปิดประกาศในพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมจะเห็นได้โดยง่าย และอาจประกาศคำสั่งศาลด้วยวิธีอื่นให้ผู้ชุมนุมได้ทราบโดยทั่วกันด้วย หากถึงเวลาที่กำหนดแล้วผู้ชุมนุมยังไม่ยุติการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมการชุมนุมจะต้องดำเนินการตามมาตรา 23 ของพ.ร.บ.ชุมนุมฯ คือ แจ้งให้ศาลทราบ จากนั้นจึงประกาศพื้นที่ควบคุมในพื้นที่การชุมนุมและพื้นที่ใกล้เคียงตามความเหมาะสม พร้อมทั้งประกาศห้ามบุคคลภายนอกเข้าพื้นที่และกำหนดเวลาให้ผู้อยู่ในพื้นที่ควบคุมออกนอกพื้นที่
5. เมื่อผู้ชุมนุมยังไม่เชื่อฟัง จึงจะใช้กำลังเข้าจับกุมได้
เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกนอกพื้นที่แล้ว หากผู้ชุมนุมยังฝ่าฝืนชุมนุมต่อไปในบริเวณที่ประกาศควบคุม เจ้าหน้าที่จึงจะใช้อำนาจตามมาตรา 24 ได้ คือ ทำการจับกุมคนที่ยังอยู่ในพื้นที่หรือค้น ยึด หรือรื้อถอนทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อการชุมนุม ซึ่งก็คือการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมนั่นเอง
ในกรณีที่ผู้ชุมนุมกระทําการใดๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตราย แก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่น จนเกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง เจ้าหน้าที่สามารถสั่งให้ยุติการกระทํานั้น และหากเจ้าหน้าที่สั่ง
แล้วยังไม่หยุด ก็ให้มีอำนาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จับกุมผู้ชุมนุมได้เช่นกัน หากผู้ชุมนุมเห็นว่าการกระทำของตัวเองไม่ใช่ความรุนแรง ไม่เห็นพ้องกับคำสั่ง ก็สามารถยื่นคําร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อพิจารณาภายในเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่มีคําสั่ง และหากไม่เห็นพ้องกับคำสั่งศาลก็สามารถอุทธรณ์ได้อีกชั้นหนึ่ง
อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight