Business

แก้ทุจริต ‘บัตรทอง’ ครม.โยกงบให้ อปท.คุม-เบิกจ่ายผ่านธนาคารแทนถือเงินสด

แก้ทุจริตบัตรทอง ครม.เคาะ อปท. บริหารงบแทน คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ พร้อมเปลี่ยนวิธีเบิกจ่ายผ่านธนาคาร ลดการถือครองเงินสด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบข้อเสนอแนะ แก้ทุจริตบัตรทอง เพื่อป้องกันความเสี่ยง เกี่ยวกับการทุจริต ในการบริหารจัดการงบประมาณโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ ตามที่ คณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

แก้ทุจริตบัตรทอง

ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ศึกษาปัญหาการทุจริต ในการบริหารจัดการงบประมาณ โครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ พบปัญหาการกระทำทุจริตดังกล่าว ส่งผลกระทบ ต่อการดำเนินโครงการ และสะท้อนให้เห็นถึง สภาพปัญหาการรั่วไหล ของงบประมาณ งบเงินอุดหนุน ที่เกิดจากการกระทำทุจริต ในหลายขั้นตอน

ทั้งนี้ (สปสช.) ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ดังนี้

  • การบริหารงบประมาณ

เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจ / ผู้รับผิดชอบในการบริหารงบประมาณของโครงการ จากเดิม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่งผลให้วิธีการบริหารงบประมาณ ต้องดำเนินการภายใต้ ระเบียบและข้อบังคับ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือปฏิบัติเป็นสำคัญ

  • การเบิกจ่ายงบประมาณ

ปรับปรุงวิธีการจ่ายเงิน โดยให้ใช้ ระบบการเบิกจ่ายงบประมาณ ผ่านบัญชีธนาคาร และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นการลดการถือครองเงินสด

นอกจากนี้ ยังให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับไปพิจารณาดำเนินการ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป โดยให้รับความเห็นของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการ

สปปช.

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่า แม้กรณีการทุจริต ตามกรณีศึกษาดังกล่าว จะได้รับการแก้ไขแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริต ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้พิจารณาประเด็นปัญหา ที่อาจก่อให้เกิด ความเสี่ยงต่อการทุจริต และได้มีข้อเสนอแนะ เพื่อเป็นแนวทาง ในการกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริต โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ระบบการจัดสรรงบประมาณ ตั้งแต่การเสนอโครงการ เพื่อขอรับงบประมาณ และการอนุมัติโครงการ

  • ให้ สปสช. กำหนดแนวทาง หรือรูปแบบการวิเคราะห์ และการประเมินความเสี่ยง ต่อการทุจริต ของกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
  • ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ พิจารณาความเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดการขัดกัน ระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับประโยชน์ส่วนรวม หรือผลประโยชน์ทับซ้อนได้
  • ให้ สปสช. วางแนวทางการดำเนินการวิเคราะห์ ที่ไม่ซับซ้อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการ พิจารณาอนุมัติโครงการ โดยพิจารณาทั้ง มิติด้านการเงิน และมิติเชิงสังคม และความเท่าเทียมกัน ในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
  • ให้คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พิจารณาอนุมัติแผนงาน โครงการ โดยต้องเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์ แนวทาง และวิธีการที่ปรากฏในแผนระดับท้องถิ่น และให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ รวมถึงเป็นส่วนหนึ่ง ในแบบคำขอรับการจัดสรรงบประมาณ

รพ.

2. ระบบการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณ และการใช้งบประมาณ

  • ให้ สปสช. ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ให้ความรู้ซักซ้อมความเข้าใจ แก่เจ้าหน้าที่ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการบริหารงบประมาณ การเบิกจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
  • ให้ มท. มีหนังสือเวียน เพื่อเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้แก่ผู้ปฏิบัติ รวมทั้งชี้ให้เห็นโทษ ที่จะได้รับหากมีการทุจริต
  • ให้ สปสช. นำข้อมูลเกี่ยวกับ การบริหารจัดการงบประมาณ มาสรุปเป็นอินโฟกราฟิก และเผยแพร่ให้แก่สาธารณะ และให้คณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อให้ประชาชนทราบ ถึงการดำเนินงาน ของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ และเพื่อให้มีส่วนร่วม แจ้งเบาะแสการทุจริต

3. ระบบการติดตามและประเมินผล และการรายงานผลการดำเนินโครงการ

  • ให้ สปสช. และคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เพิ่มข้อมูลการรายงานข้อเท็จจริง รวมทั้งกำกับติดตามให้มีการรายงาน ผลการดำเนินงานตามที่กฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนด
  • ให้ สปสช. เพิ่มระบบการแจ้งเตือน การรายงานผล หรือเพิ่มช่องทางการรายงาน ผ่านระบบออนไลน์ และให้ สปสช. งดการสนับสนุนงบประมาณ ในกรณีที่หน่วยงาน ไม่รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ ตามหลักเกณฑ์ของ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
  • ให้ สปสช. ปรับปรุงระบบการรายงาน ผลการดำเนินแผนงาน โครงการ ควรมีการรายงานด้วยภาพถ่าย หรือวีดิทัศน์ภาพการดำเนินการจริง
  • ให้ สปสช. กำหนดแนวทาง ที่จะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ สามารถร่วมประเมินผลประโยชน์ ที่ได้รับจากโครงการ และให้ สปสช. เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo