Politics

บัตรทองต้องรู้! เปิด 5 ช่องทางตรวจสอบสิทธิ์ง่ายๆ ที่นี่

บัตรทอง ต้องรู้! “ไทยคู่ฟ้า” เปิดวิธีตรวจสอบสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผ่าน 5 ช่องทางง่ายๆ เช็คได้ด้วยตัวเองที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “ไทยคู่ฟ้า” โพสต์ภาพพร้อมระบุวิธี ตรวจสอบสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิ์บัตรทอง) โดยระบุว่า #ไทยคู่ฟ้า รู้หรือไม่? คุณสามารถตรวสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) ด้วยตนเอง” ได้แล้ว ผ่านทาง 5 ช่องทาง! ไปดูกันครับ…. มีอะไรบ้าง?

บัตรทอง

ช่องทางที่ 1 : ไปติดต่อด้วยตนเองได้ที่

  • สำนักงานเขต กทม. (19 เขต)
  • สปสช. เขตพื้นที่ 1-13
  • โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
  • โรงพยาบาลของรัฐ

ช่องทางที่ 2 : โทรสายด่วน สปสช. 1330 กด 2 ตามด้วยหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก และเครื่องหมาย #

ช่องทางที่ 3 : ทาง Application “สปสช.” สามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ทั้งระบบ Andriod และ iOS (สแกน QR Code เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน)

(หมายเหตุ : เมื่อลงทะเบียนติดตั้งแอปพลิเคชันเรียบร้อย สามารถเข้าใช้งานฟังก์ชั่น ตรวจสอบสิทธิ์ตนเอง และตรวจสอบสิทธิ์คนในครอบครัวได้ทันที)

ช่องทางที่ 4 : ผ่าน LINE Official Account สปสช. – แอดเป็นเพื่อนง่ายๆ พิมพ์ค้นหา Line ID @nhso หรือ สแกน QR Code/ หรือ คลิกที่นี่

(หมายเหตุ : ใช้งานง่ายๆ เพียงเลือกฟังก์ชั่น “ตรวจสอบสิทธิ์” และกรอกข้อมูล ก็สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้แล้ว)

ช่องทางที่ 5 : ผ่านทางเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th

โดยเข้าเมนูประชาชน เลือกหัวข้อ “ตรวจสอบสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ คลิกที่นี่

อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม โทรสายด่วน สปสช. 1330 ให้บริการตลอด 24 ชม.

บัตรทอง

ด้าน “สปสช.” แจงแนวทางดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง 2 แสนราย ที่มีสิทธิใน “18 คลินิกทุจริต” โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงแนวทางการดูแลประชาชนที่มีสิทธิอยู่ในคลินิกชุมชนอบอุ่น 18 แห่ง ซึ่งถูกเพิกถอนสัญญาจากพฤติกรรมทุจริตตกแต่งตัวเลขเบิกเงินเกินจริง โดยยืนยันว่า ประชาชนทั้ง 215,271 ราย จะได้รับการย้ายหน่วยบริการอัตโนมัติ ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการรักษาอย่างต่อเนื่องไร้รอยต่อ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้มีสิทธิ 18 คลินิก ทาง สปสช. กทม. จะจัดสรรหน่วยบริการประจำให้โดยเร็ว หลังจากได้รับการจัดสรร หากไม่สะดวก ประชาชนสามารถเลือกหน่วยบริการประจำแห่งใหม่ได้ที่สำนักงานเขต 19 เขต ประกอบด้วย คลองเตย คลองสามวา ธนบุรี บางกะปิ บางขุนเทียน บางแค บางพลัด ประเวศ พระโขนง มีนบุรี ราชเทวี ราษฎร์บูรณะ ลาดกระบัง ลาดพร้าว สายไหม หนองแขม หนองจอก หลักสี่ ห้วยขวาง

“หลังจากยื่นเรื่องขอย้ายสิทธิแล้ว จะใช้เวลาดำเนินการ 15-30 วัน โดยสิทธิจะปรับอัตโนมัติทุกวันที่ 15 กับ 28 ของเดือน โดยระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิในหน่วยบริการใหม่ หากเจ็บป่วยให้ใช้หน่วยบริการเดิมต่อไปได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวอีกว่า ในระหว่างที่รอเปลี่ยนหน่วยบริการปฐมภูมิ หากผู้มีสิทธิมีนัดหมายกับโรงพยาบาลทุติยภูมิ (โรงพยาบาลรับส่งต่อ) ผู้รับบริการไม่ต้องใช้ใบส่งต่อ โดยสามารถไปใช้สิทธิตามที่โรงพยาบาลนัดได้จนกว่าจะได้รับการย้ายสิทธิไปยังหน่วยบริการใหม่

ทั้งนี้ ในส่วนของหน่วยบริการภาครัฐที่จะเข้ามาดูแลประชาชนกลุ่มดังกล่าวต่อ จะมีการแจ้งให้ประชาชนทราบตามฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิม โดยการส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือจดหมาย แต่หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางสายด่วน 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงในแอปพลิเคชัน “สปสช.สร้างสุข” หรือสอบถามผ่านช่องทางไลน์ @ucbkk ได้

สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไว้กับคลินิก 18 แห่งนั้น เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขอให้ประชาชนแก้ไขการจองสิทธิเปลี่ยนหน่วยบริการแห่งใหม่ที่สะดวก ผ่านไลน์ไอดี @ucbkk สร้างสุข หรือสอบถามสายด่วน 1330 หรือไปรับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวถึงโรงพยาบาลตติยภูมิที่ให้บริการผู้ป่วยนอกว่า หน่วยบริการที่รักษาสามารถให้บริการกับผู้รับบริการที่มีสิทธิ 18 คลินิกได้ โดยเบิกค่าใช้จ่ายเป็นกรณีอุบัติเหตุ/เจ็บป่วยฉุกเฉิน (AE) และบันทึกในเวชระเบียนระบุว่า 18 คลินิกปิด เพื่อที่ผู้ตรวจสอบบัญชี (Audit) จะได้ทราบ

ขอบคุณเฟซบุ๊ก ไทยคู่ฟ้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo