Politics

ศาลให้ประกัน ‘ฟอร์ด-เจมส์’ ตั้งเงื่อนไข ‘ห้ามทำผิดแบบเดิม’

ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ‘ฟอร์ด-เจมส์’ แต่มีเงื่อนไขห้ามกระทำผิดซ้ำลักษณะนี้ มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน โดยแจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาแล้ว

วันนี้ (26 ส.ค.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พ.ต.ท.หญิงจิตติมา ธงไชย พนักงานสอบสวน สน.สำราญราษฎร์ ควบคุมตัวนายทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี หรือฟอร์ด อายุ 23 ปี นายภาณุมาศ สิงห์พรม หรือเจมส์ อายุ 24 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ไปยื่นคำร้องขอฝากขัง ในข้อกล่าวหา 8 ข้อหาด้วยกัน

ฟอร์ด-เจมส์

หลังการไต่สวน  ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตฝากขังนายทัตเทพ และนายภานุมาศ ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ซึ่งทั้งคู่ได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยนายทัตเทพใช้ตำแหน่งของ อ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนายภานุมาศใช้ตำแหน่งของ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็นหลักประกัน

ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีสัญญาประกันวงเงินคนละ 100,000 บาท โดยไม่มีหลักประกัน พร้อมให้กำหนดเงื่อนไขห้ามกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้อีก มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญาประกัน โดยศาลแจ้งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวดังกล่าว และปล่อยตัวผู้ต้องหา

หลังได้รับการปล่อยตัว นายทัตเทพแถลงว่า แม้จะได้รับการประกันตัว แต่ก็ยังรู้สึกว่าคนไทยทุกคนยังตกอยู่ในคุก ที่เป็นอำนาจคุมขังประชาชน ข้อเสนอของกลุ่มประชาชนปลดแอก เพียงข้อแรกรัฐบาลยังทำไม่ได้ เพราะปัจจุบัน รัฐบาลยังคงคุกคามประชาชน และใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการเล่นงานผู้เห็นต่าง

รายละเอียดคำร้องฝากขัง ฟอร์ด-เจมส์

คำร้องระบุพฤติการณ์ สรุปว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 16.00 น. นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ กับพวกจัดกิจกรรม “ใครไม่ทนให้ไปกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทยอยรวมตัวกันบนทางเท้า หน้าร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ระหว่างการชุมนุม ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน และปฏิบัติหน้าที่ ได้เข้าไปชี้แจงกับกลุ่มผู้ชุมนุมว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย แต่กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมไม่ปฏิบัติตาม

นายทัตเทพ  ซึ่งโพสต์ชักชวนประชาชน ให้มาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อเวลา 17.20 น. เวลา 20.38 น. และเวลา 23.55 น. จำนวน 3 ครั้ง ประกาศข้อเรียกร้อง 3 ข้อคือ ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ส่วน นายภาณุมาศ ผู้โพสต์ชักชวนประชาชน ให้มาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน ขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อเวลา 23.39 น. โดยกล่าวถึงรัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบมาเพื่อประชาชน พนักงานสอบสวน จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาอนุมัติหมายจับผู้ต้องหาที่ 1-2

ฟอร์ด-เจมส์

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ตำรวจชุดจับกุมได้ทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ได้ตามหมายจับ ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาที่ 1-2 ไม่ประสงค์ให้การใดๆ ต่อพนักงานสอบสวน  โดยพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวน และควบคุมตัวผู้ต้องหา จะครบกำหนด 48 ชั่วโมง ในวันที่  28 สิงหาคม

แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลการตรวจพิสูจน์ ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา จากกองทะเบียนประวัติอาชญากร และผลการตรวจสอบประวัติการต้องโทษ ของผู้ต้องหา

จึงขออำนาจศาลฝากขังผู้ต้องหา ในการฝากขังครั้งเเรกมีกำหนด 12 วันนับแต่วันที่ 26 สิงหาคม – 5 กันยายนนี้ หากผู้ต้องหาที่ 1-2 ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว  พนักงานสอบสวนไม่คัดค้านการประกันตัวของผู้ต้องหา

8 ข้อกล่าวหา

1. ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริตเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116

2. ร่วมกันมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

3. ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมกัน หรือมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันง่าย ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

4. กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคแพร่ระบาดออกไป ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34

ฟอร์ด-เจมส์

5. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โดยวางหรือทอดทิ้งสิ่งของ หรือโดยกระทำด้วยประการอื่นใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385

6. ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก มาตรา 114

7. ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มาตรา 19

8. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง มาตรา 4

ภาพ : Twitter @iLawFX

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo