World News

จีนย้ำ ‘ยุทธศาสตร์สองวงจร’ รูปแบบการพัฒนาใหม่ ยึดอุปสงค์ในประเทศเป็นหลัก

 จีนเร่งสร้างรูปแบบการพัฒนาแบบ “วงจรคู่” (dual circulation) โดยยึดตลาดในประเทศเป็นแกนหลัก ขณะที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้

ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2020 ผู้นำสูงสุดของจีน ได้ย้ำถึงรูปแบบการพัฒนาแบบ “วงจรคู่” ในหลายโอกาส ซึ่งบ่งชี้ถึงความสำคัญของกลยุทธ์ดังกล่าวในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน ที่กำลังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากเน้นส่งออกไปสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ

รูปแบบการพัฒนาใหม่

รูปแบบการพัฒนาใหม่นี้ไม่ใช่การด่วนตัดสินใจอย่างหุนหัน หากแต่เป็นการตัดสินใจที่ใช้เวลาตรึกตรองมานานหลายปี

จีนมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในห่วงโซ่มูลค่าโลกนับตั้งแต่มีการปฏิรูปและเปิดประเทศในช่วงปลายทศวรรษ 1970 จีนได้บรรลุการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำและภายใต้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียต่างๆ ค่อยๆ ปรากฎขึ้น เช่น การพึ่งพาการค้าต่างประเทศมากเกินไป ความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีแกนหลัก และแรงกดดันในการยกระดับอุตสาหกรรม

ที่จริงแล้ว นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชียหรือวิกฤตต้มยำกุ้งปะทุขึ้นเมื่อปี 1998 จีนได้เปลี่ยนฐานที่มั่นในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไปเป็นการขยายอุปสงค์ภายในประเทศ โดยช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจีนค่อยๆ กลายเป็นประเทศที่พึ่งพาตลาดในประเทศมากกว่าการส่งออก

จีน11 1 1

 

เมื่อมองจากสถานการณ์ภายในประเทศ จีนกำลังผลักดันการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง และกำลังเร่งกระบวนการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจของตน

หากมองจากสถานการณ์ทั่วโลก ปัจจุบันโลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งอันเป็นสิ่งที่เราไม่เคยพานพบในรอบศตวรรษ โรคโควิด-19 กำลังก่อหายนะไปทั่วโลก ลัทธิการกีดกันทางการค้ากำลังผงาดขึ้นอีกครั้งในบางประเทศ และอุตสาหกรรมและห่วงโซอุปทานทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ท่ามกลางสภาพการณ์เช่นนี้เอง รูปแบบการพัฒนาแบบวงจรคู่ของจีนจึงได้รับการย้ำถึงอีกครั้ง บนพื้นฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนาในระยะยาวของจีนรวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก

หวงฉวินฮุ่ย ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐศาสตร์ สังกัดสถาบันสังคมศาสตร์แห่งจีน (CASS) กล่าวว่ารูปแบบการพัฒนาใหม่นี้ เป็นทางเลือกเชิงกลยุทธ์ สำหรับเศรษฐกิจของจีน เพื่อบ่มเพาะโอกาสใหม่ๆ และรักษาความได้เปรียบใหม่ๆ ในการแข่งขันในเวทีโลก

เปิดกว้างอย่างลงลึก

แม้ว่าจะเน้นศักยภาพของการหมุนเวียนภายในประเทศ แต่ก็มิได้หมายความว่าจีนจะแสวงหาความสันโดษ ทว่าจีนจะใช้ทรัพยากรในประเทศและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการพัฒนาที่แข็งแกร่งและยั่งยืน

“แต่ไหนแต่ไรมากิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่เคยอยู่ได้เพียงลำพัง มันมีลักษณะเป็นพลวัต และเป็นวัฏจักร เนื่องจากจีนเองได้หลอมรวมเข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์อย่างลึกซึ้ง จีนจึงไม่สามารถขยายอุปสงค์ภายในประเทศได้ หากอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกนั้น ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น” เว่ยเจี้ยนกั๋ว รองประธานศูนย์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีน กล่าว

ด้าน กวนเทา นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารแห่งประเทศจีน ระหว่างประเทศ (BOC International) กล่าวว่า “กลยุทธ์นี้จะใช้กระแสการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ ในประเทศเป็นแกนหลัก  ใช้การขยายอุปสงค์ภายในประเทศเป็นพื้นฐาน กลยุทธ์นี้ไม่ได้หมายถึง การปิดประตูสู่โลกภายนอก หรือการแยกออกจากกัน ในทางตรงกันข้าม มันหมายถึง การเปิดสู่โลกภายนอกในระดับสูงต่อไป”

จีน11

การทบทวนการปฏิรูปครั้งใหญ่ของจีนในปีนี้เผยให้เห็นแนวโน้มความพยายามของจีนในการกระตุ้นการเปิดกว้าง

เมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน จีนได้ปรับลดรายการข้อจำกัด หรือข้อห้ามสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (Negative List) อีกครั้ง โดยลดจำนวนภาคส่วน ที่มีข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ และเมื่อต้นเดือนมิถุนายน จีนได้เผยแพร่แผนแม่บทในการพัฒนามณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ให้เป็นท่าเรือการค้าเสรีที่ทรงอิทธิพลระดับโลก

ก่อนหน้านี้ ยังมีการเปิดเผยถึงแนวปฎิบัติสองประการ ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม หนึ่งคือ การจัดสรรทรัพยากรที่ยึดโยงกับตลาด และสองคือ การปรับปรุงระบบเศรษฐกิจตลาดแบบสังคมนิยม (socialist market economy) แผนทั้งสองนี้มุ่งเน้นการปกป้องบทบาทของตลาดในระบบเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทในประเทศและบริษัททุนต่างชาติเช่นเดียวกัน

จีนจำเป็นต้องเดินหน้าไป สู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ จีนกำลังยกระดับระบบอุปสงค์ภายในประเทศ ในสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้าง ดังนั้นกระแสการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศจึงไม่ควรถูกตัดขาดออกจากกัน

การพัฒนาของจีนไม่สามารถ ถูกแยกออกจากโลกได้ฉันใด การพัฒนาของโลกก็ต้องการจีนฉันนั้น ในอนาคตจีนมีแต่จะเปิดประตูให้กว้างยิ่งขึ้น เพื่อแบ่งปันโอกาสในการพัฒนากับทั่วโลก

ที่มา:สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight