Business

เอไอเอส รายได้วูบ เซ่นโควิด เปิดงบลงทุนปีนี้ 3.5 หมื่นล้าน

เอไอเอส รับโควิด-19 กระทบรายได้ไตรมาส 2 ลดลง เดินหน้าบริหารต้นทุน กระแสเงินสด พร้อมลงทุนปีนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท ขยายโครงข่าย

​นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัท ในไตรมาส 2 ปี 2563 มีรายได้รวม 42,256 ล้านบาท ลดลง 1.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 4.1% เมื่อช่วงเดียวกันของปี 2562

สมชัย

อย่างไรก็ตาม จากการเน้นบริหารต้นทุน และควบคุมค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกิจกรรมทางการตลาดที่น้อยลง ในช่วงสถานการณ์โควิด ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 7,235 ล้านบาท ลดลง 6.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 3.3% เทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563

นอกจากนี้ ยังมุ่งบริหารจัดการกระแสเงินสด ให้เพียงพอต่อการลงทุนขยายโครงข่ายทั้งบริการ 5G และ 4G เพื่อรักษาความเป็นผู้นำอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในครึ่งปีแรกรวม 42,328 ล้านบาท พร้อมทั้งวางงบลงทุนปีนี้ 3.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับงบลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท จะใช้ในการขยายโครงข่าย 4G และ 5G รวมถึงธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย การขยายพื้นที่ให้บริการ 5G ให้ครอบคลุม 13% ของประชากร และ 50% ของประชากรในพื้นที่กรุงเทพฯภายในปี 2563 นี้

เมื่อแยกในแต่ละกลุ่มธุรกิจ พบว่า

  • ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

เอไอเอส ยังคงมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือสูงที่สุดในตลาด ที่ 41 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นลูกค้าระบบรายเดือน จำนวน 9.5 ล้านราย ซึ่งเพิ่มขึ้น 395,600 รายในไตรมาสนี้ และมีลูกค้าระบบเติมเงินอยู่ที่ 31.4 ล้านราย ลดลง 531,900 ราย เนื่องจากยอดขาย Sim2Fly ได้รับผลกระทบ จากข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างประเทศ

เอไอเอส

ขณะที่รายได้ต่อเลขหมายเฉลี่ยเท่ากับ 239 บาท/เลขหมาย/เดือน จากสภาพการแข่งขันในตลาดที่ยังคงสูงจากแพ็กเกจประเภท Fixed Speed Unlimited ซึ่งยังมีให้บริการในทุกโอเปอร์เรเตอร์

ขณะที่โควิด-19 ทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเปลี่ยนไป ทั้งการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเรียนที่บ้าน (Learn from Home) ส่งผลให้การใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 15% เทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่เฉลี่ย 17 กิกะไบต์ต่อเดือน และสัดส่วนลูกค้าที่ใช้ 4G ยังเติบโตสูงขึ้นต่อเนื่อง 75%

  • ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน

เอไอเอส ไฟเบอร์ ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยมีลูกค้าใหม่เพิ่มสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดให้บริการ จากความต้องการติดเน็ตบ้านในช่วงโควิด-19 ส่งผลให้มีลูกค้ารวม 1.2 ล้านราย และมีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,683 ล้านบาท เติบโต 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนธุรกิจลูกค้าองค์กร ก็ยังคงเติบโตจากความต้องการใช้บริการโซลูชั่นต่างๆ

สำหรับในครึ่งปีหลัง  แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย จะเริ่มคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัว แต่แนวโน้มธุรกิจในครึ่งหลัง ยังมีความไม่แน่นอน ทั้งจากอัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น การหดตัวของภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ

“ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อแนวโน้มของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และรายได้จากการให้บริการของบริษัท” นายสมชัยกล่าว

ดังนั้น เอไอเอสจึงให้ความสำคัญกับการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ของบริษัท

ในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ คาดว่ารายได้จะเริ่มฟื้นตัว ในครึ่งหลังของปี 2563 แต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวและการแข่งขันด้านราคาในตลาด โดยคาดว่ารายได้จะหดตัวในอัตราเลขตัวเดียวระดับต่ำ และจะเน้นรักษาส่วนแบ่งตลาดเชิงรายได้

ด้าน ธุรกิจเอไอเอส ไฟเบอร์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้าน คาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่องในครึ่งปีหลัง และบรรลุเป้าหมายผู้ใช้บริการ 1.35 ล้านรายภายในปี 2563

ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ยังคงเติบโตตามกระแสดิจิทัล จากความต้องการที่สูงขึ้นขององค์กร ซึ่งต้องการปรับเปลี่ยนธุรกิจ สู่กระบวนการดิจิทัล ซึ่งธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรส่วนที่ไม่ใช่บริการโทรศัพท์ มีสัดส่วนประมาณ 3% ของรายได้หลักในการให้บริการ และคาดว่าจะเติบโตในอัตราเลขสองหลัก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo