Politics

ครม.ปลดล็อก ‘กัญชา’ เสรีขยายวงให้ ‘ผู้ป่วย-หมอพื้นบ้าน-แพทย์แผนไทย’

กัญชาเสรี!!  ครม.เดินหน้าปลดล็อก กัญชาเสรี ขยายวงให้ผู้ป่วย หมอพื้นบ้าน แพทย์แผนไทย เกษตรกรที่ร่วมกับผู้ได้รับอนุญาต ผลิตสมุนไพร สามารถได้รับใบอนุญาตให้ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือ มีกัญชาไว้ในครอบครองได้

กัญชาเสรี  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้(4 ส.ค.) อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่..)พ.ศ. …. ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้เมื่อปี 2562 ฉบับใหม่ที่แก้ไขนี้มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้ผู้ป่วยที่ ได้รับการรับรองจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอชาวบ้าน ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตด้านเกษตรกรรมและเกษตรกร ที่ดำเนินการผลิตภายใต้ความร่วมมือ กับผู้รับอนุญาตผลิต  ยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร และบุคคลอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้โทษกำหนด สามารถได้รับใบอนุญาตให้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 หรือกัญชาได้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ไขปัญหา การเข้าถึงการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค และปัญหาการพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดกัญชาทางการแพทย์

กัญชาเสรี

ทั้งนี้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปลดล็อกกัญชานั้น กำหนดให้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ หรือผู้ขออนุญาต ที่ต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของรัฐเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า หรือส่งออกได้ ส่งผลให้การพัฒนาองค์ความรู้ และการต่อยอดกัญชาทางการแพทย์อยู่ในวงจำกัด

เปิดรับฟังความเห็นมาก่อน

ขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน ไม่สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงยาตำรับที่มีกัญชา เป็นส่วนผสมสำหรับคนไข้ได้ โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ไปเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา

กัญชาเสรี
ไตรศุลี ไตรสรณกุล

ขณะเดียวกัน ในกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนดเกี่ยวกับกระบวนการเก็บรักษาและทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง โดยกำหนดให้ กรณีที่มีการยึดหรือริบยาเสพติดให้โทษ เมื่อได้มีการตรวจชนิดและปริมาณแล้วว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ที่กระทรวงสาธารณสุขมอบหมาย สามารถทำลาย หรือนำยาเสพติดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาการเก็บรักษายาเสพติดของกลางไว้เป็นเวลานาน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณและสถานที่เก็บรักษา

ทั้งนี้หลังจาก ครม.อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

กัญชาเสรี: นโยบายต่อรัฐสภา

ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหาร และยา กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ตามที่รัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงนโยบายต่อรัฐสภา  รวมถึงนโยบายเร่งด่วนข้อ 4  ที่ให้ความสำคัญในการต่อยอดภูมิปัญญา และความรู้ของปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อสร้าง นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป รวมถึง ศึกษา วิจัยการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ผู้ป่วยที่ต้องการรักษาโรคด้วยกัญชา ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ยังไม่สามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยของตน ส่งผลให้การรักษาด้วยภูมิปัญญาไทย ไม่ได้รับการต่อยอดและพัฒนาเท่าที่ควร เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาไทยสู่ระดับโลก

“ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะเสนอร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่…) พ.ศ … เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในวันอังคารที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อผลักดันการใช้พืชกัญชาทางการแพทย์ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล”

ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน  ได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษแล้ว ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดให้โทษ (ป.ป.ส.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แพทยสภา สภาการแพทย์แผนไทย สภาเภสัชกรรม กรมการแพทย์ กรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก เป็นต้น

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มุ่งเน้นหลักการสำคัญ 3 ประการคือ

1. เพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้ผู้ป่วย ได้รับการรับรอง จากผู้ประกอบวิชาชีพสามารถขออนุญาตปลูก และใช้กัญชา เพื่อรักษาโรคของตนเองได้

2. ต่อยอดภูมิปัญญาการแพทย์ในท้องถิ่นให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน สามารถขออนุญาตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในการปรุงยาเพื่อให้ผู้ป่วยของตนได้

3. ส่งเสริมอุตสาหกรรมยาของประเทศ ให้เกษตรกรสามารถขออนุญาตปลูกกัญชา ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ผลิตยา หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรอีกครั้งผู้ผลิตยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพร สามารถผลิตยากัญชา และส่งออกได้ เพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันในทั้งใน และต่างประเทศ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางยาของประเทศ

ไม่ต้องนำเข้ายากัญชาจากต่างประเทศ และประหยัดงบประมาณ ในการนำยาโดยใช้ยากัญชาทดแทน หรือใช้ร่วมกับ ยาแผนปัจจุบันได้ ซึ่งจะเป็นอีกก้าวสำคัญที่ประเทศไทย จะก้าวสู่ผู้นำการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ต่อยอดภูมิปัญญาไทย บรรลุตามนโยบายของรัฐบาล ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนไทย และประเทศชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight