Lifestyle

ปกป้องสตรีไทย จาก พิษร้าย ‘ควันบุหรี่มือสอง’ คร่าชีวิตกว่า 1.2 ล้านคนทั่วโลก

พิษร้าย ควันบุหรี่มือสอง WHO เผยผู้เสียชีวิตกว่า 1.2 ล้านคน โดยเฉพาะสตรีในครอบครัวสูบบุหรี่ ศจย. ชวนร่วมปกป้องสตรีไทย จากภัยควันบุหรี่

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัย และจัดการความรู้ เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า มีคนทั่วโลกเสียชีวิตจาก พิษร้าย ควันบุหรี่มือสอง กว่า 1.2 ล้านคน โดยเฉพาะสตรี ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่ มีโอกาสได้รับอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง โดยควันบุหรี่มือสองมีอันตรายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่

cover ภัยควันบุหรี่

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจ พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของประชากรไทย ปี 2560 พบว่า ส่วนใหญ่ ผู้สูบบุหรี่เป็นเพศชาย โดยผู้ชายสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบริเวณบ้าน ถึง 42%

นอกจากนี้ ศจย. ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล พบมีครัวเรือน ที่มีคนสูบบุหรี่ 4,962,045 ครัวเรือน คนที่ไม่สูบบุหรี่ จึงได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยเฉลี่ยสูงถึง 10,333,653 คน

ขณะที่ ในวารสารก้าวทันวิจัยกับ ศจย. ปี 2562 ได้ระบุข้อมูลการศึกษาวิจัย เรื่อง “การได้รับผลกระทบ จากควันบุหรี่มือสอง ของผู้หญิงจีน” จำนวนกว่า 72,000 ราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่แต่งงานกับสามีที่สูบบุหรี่ และ/หรือ ได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่ทำงาน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองเลย

ผลสำรวจพบว่า กลุ่มที่ได้รับควันบุหรี่มือสองนั้น มีอัตราการเสียชีวิต สูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง อย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อวิเคราะห์แยกย่อยลงไป พบว่า สาเหตุหลัก ที่ทำให้ผู้หญิงที่ได้รับควันบุหรี่มือสองเหล่านี้ เสียชีวิต ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง

จากข้อมูลของ ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ระบุว่า ภัยของควันบุหรี่ที่มีผลต่อสุขภาพสตรี คือ

  • เสี่ยงหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน และเส้นเลือดสมองแตก
  • เสี่ยงโรคปอด ทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และถุงลมโป่งพอง
  • เสี่ยงโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้สูง
  • ความหนาแน่นของกระดูก น้อยลง เสี่ยงสะโพกหัก
  • ทำให้ปวดประจำเดือนเป็นอย่างมาก มีลูกยาก และ มีอาการวัยทองที่รุนแรง
  • ถ้าตั้งครรภ์ เสี่ยงทำให้คลอดก่อนกำหนด เพิ่มความเสี่ยงการตายของทารกหลังคลอด ศ.นพ.รณชัย กล่าว

ควันบุหรี่มือสอง02 01

ศ.นพ.รณชัย กล่าวต่อว่า ดังนั้น เนื่องใน “วันสตรีไทย” วันที่ 1 สิงหาคม จึงขอเชิญชวนร่วมรณรงค์ “ปกป้องสตรีไทย จากภัยควันบุหรี่มือสอง” ขอให้ผู้ชายที่สูบบุหรี่ ตระหนักถึงผลกระทบสุขภาพ จากควันบุหรี่มือสอง ที่อาจเกิดขึ้นกับคนในครอบครัว

“คุณกำลังทำร้ายคนที่คุณรักอยู่ จึงอยากเชิญชวนเลิกสูบบุหรี่เพื่อคนในครอบครัว โดยสามารถปรึกษาได้ที่ คลินิกเลิกบุหรี่ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน และสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600″ศ.นพ.รณชัย กล่าว

ขณะที่ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฏร ให้ความรู้ถึงอันตรายของ ควันบุหรี่มือสอง ว่า คือควันบุหรี่ที่ผู้สูบพ่นออกมาทางลมหายใจ ผสมกับควันจากปลายมวนบุหรี่ที่กำลังเผาไหม้ โดยไม่ผ่านตัวกรอง สารพิษในควันบุหรี่

ควันชนิดนี้ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษนับร้อยชนิดและในจำนวนนี้ราว 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็งที่สามารถปะปนอยู่ในอากาศได้นานถึง 5 ชั่วโมงโดยไม่มีกลิ่นให้รับรู้ได้เลย

สารพิษในควันบุหรี่ เกิดจากการเผาไหม้ของสารเคมีที่มีอยู่ในใบยาสูบตามธรรมชาติ จากสารเคมีที่ใช้ปรุงแต่งกลิ่นและรสในกระบวนการผลิตบุหรี่ และจากกระดาษที่ใช้มวนบุหรี่ ซึ่งตัวอย่างของสารพิษเหล่านี้ ได้แก่

  • เบนซีน เป็นสารก่อมะเร็งที่พบในยาฆ่าแมลงซึ่งอาจติดมากับใบยาสูบ
  • ฟอร์มาลดีไฮด์หรือฟอร์มาลีน เป็นสารก่อมะเร็งที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตา เยื่อบุจมูก และเยื่อบุทางเดินหายใจ
  • พอโลเนียม-210 เป็นสารกัมมันตรังสี เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอด
  • แคดเมียม เป็นสารโลหะที่เป็นอันตรายต่อไต ตับ และสมอง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดและอัณฑะ
  • สารตะกั่ว เป็นสารโลหะที่ทำลายสมอง ไต ระบบประสาทและเม็ดเลือดแดงอย่างรุนแรง สามารถถูกดูดซึมผ่านผิวหนังได้โดยเฉพาะในเด็ก
  • แอมโมเนีย ใช้ปรุงแต่งรสชาติและช่วยให้นิโคตินดูดซึมเข้าสู่สมองและประสาทส่วนกลางเร็วขึ้น มีฤทธิ์ระคายเคืองเนื้อเยื่อ ทำให้แสบตา แสบจมูก หลอดลมอักเสบ
  • โครเมียม เป็นสารโลหะที่อาจตกค้างในใบยาสูบหลังจากการพ่นยาฆ่าแมลง
  • คาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้บุหรี่ ออกฤทธิ์ขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูดควันบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลง เลือดข้นและหนืดขึ้นจนหัวใจต้องทำงานหนักเพื่อให้เลือดนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจ
  • สารหนู มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร และเชื่อมโยงกับการเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo