Economics

‘สรรพสามิต’ เมินข้อเสนอผู้ประกอบการบุหรี่นอกขอทบทวนติดอี-แสตมป์!

“อธิบดีกรมสรรพสามิต” เมินข้อเสนอผู้ประกอบการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ ขอทบทวนวิธีการติดแสตมป์ยาสูบใหม่ ชี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องไปบริหารจัดการเอง

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิต ไม่รับข้อเสนอของผู้ประกอบการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ ที่ต้องการให้ปรับวิธีการติดแสตมป์ยาสูบใหม่ (อี-แสตมป์) โดยกรมฯ ยืนยันว่า การดำเนินการโดยการนำระบบการติดตามและแกะรอย (Tracking and Tracing System) ดังกล่าวมาใช้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี และเป็นไปตามกรอบอนุสัญญา ว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO) และให้เป็นไปตามพิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่ต้องดำเนินการ

พชร อนันตศิลป์ 207631

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ จะอ้างว่า ระบบดังกล่าวทำให้เกิดความยุ่งยาก ซับซ้อน เพราะมีขั้นตอนที่เมื่อนำบุหรี่เข้ามาภายในประเทศ แล้วต้องมีการแกะบรรจุเพื่อติดแสตมป์ใหม่ ส่งผลให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากค่าเครื่องจักร และการจ้างงาน

“ผู้ประกอบการระบุว่าอาจจะส่งผลให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการนำเข้าต้องไปบริหารจัดการเอง ถ้าจะขึ้นราคาบุหรี่ก็สามารถทำได้ และต้องถามกลับว่า บุหรี่ขึ้นราคาแล้วไม่ดีกับผู้บริโภคอย่างไร” นายพชร กล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า กรมฯ ไม่รับข้อเสนอของผู้ประกอบการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ ที่ต้องการติดอี-แสตมป์จากต่างประเทศและนำเข้ามา ต้องนำมาติดภายในประเทศเท่านั้น ส่วนกระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ต้องไปดำเนินการ ไม่ใช่เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะโรงงานยาสูบก็ต้องลงทุนเพิ่ม หรือถ้าผู้นำเข้าไม่สะดวก จะจ้างโรงงานยาสูบติดอี-แสตมป์ให้ก็ได้ แต่ขั้นตอนต้องดำเนินการภายในประเทศเท่านั้น

นายพชร กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ประกอบการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศแล้ว มีข้อเรียกร้อง ซึ่งกรมฯ ก็ได้เสนอทางออกว่า ให้แจ้งว่าจำนวนบุหรี่ที่ต้องการนำเข้ามา กระจายไปในแต่ละภูมิภาค หรือ รายจังหวัด เท่าไหร่ เช่น เข้ามา 100 จะกระจายไปภาคเหนือ 20 ภาคใต้ 20 ส่วนที่เหลือไปที่ใด แล้วกรมฯ จะส่งโค๊ดไปให้ติดจากต่างประเทศได้ เพื่อให้สามารถติดตามได้ว่า บุหรี่ซองนั้นมีต้นทางปลายทางอย่างไร แต่ผู้นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศไม่เห็นด้วย ที่จะแจ้งในลักษณะดังกล่าว จึงทำให้ตกลงกันไม่ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo