COVID-19

ไทยร่วมมือองค์การอนามัยโลก ‘ถอดบทเรียน’ ป้องกันโควิด-19 ประเทศแรกในโลก

ถอดบทเรียนป้องกันโควิด-19 ประเทศไทยเข้าร่วม องค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ เป็นที่แรกของโลก พร้อมรับมือหากระบาดรอบ 2

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดี กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ประเทศไทย ได้เข้าร่วม ถอดบทเรียนป้องกันโควิด-19 โดย ทีมจากองค์การอนามัยโลก องค์กรระหว่างประเทศ และสถาบันในประเทศ ระหว่างวันที่ 20-24 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

ถอดบทเรียนป้องกันโควิด-19

ในงานดังกล่าว มีผู้แทนและผู้ปฏิบัติงาน จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนจากองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลรัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ อีกหลายหน่วยงาน เข้าร่วมกว่า 100 คน

พร้อมกันนี้ ได้วาง 9 เสาหลักสำคัญ ต่อการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ประกอบด้วย

1. การประสานงาน การวางแผน การติดตาม และ ประเมินผลในระดับประเทศ

2. การสื่อสารความเสี่ยง และ การมีส่วนร่วมของชุมชน

3. การเฝ้าระวัง การสอบสวนโรค และ การติดตามผู้สัมผัส

4. ช่องทางเข้าออกประเทศ

5. ระบบห้องปฏิบัติการแห่งชาติ

6. การป้องกัน และ ควบคุมการติดเชื้อ

นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

7. การจัดการผู้ป่วย และ การแบ่งปันความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย

8. การสนับสนุนการปฏิบัติงาน และ การขนส่งในห่วงโซ่อุปทาน และ การจัดการกำลังคน

9. การบำรุงรักษาด้านบริการสุขภาพ ที่จำเป็นระหว่างการระบาด ของโรคโควิด-19

สำหรับประเทศไทย นับเป็นประเทศแรกของโลก ที่เข้าร่วมการถอดบทเรียน การดำเนินงานจัดการปัญหา โรคโควิด-19 โดยใช้เครื่องมือที่องค์การอนามัยโลก ได้พัฒนาขึ้นมาใหม่

นายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข นายแพทย์ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ประเทศไทย เข้าร่วมการถอดบทเรียน การดำเนินงาน ภายใต้การระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศ และเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนางาน ป้องกันควบคุมโรค พัฒนาระบบบริหารจัดการ ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน รวมถึงพัฒนากระบวนการทำงาน ของหน่วยงานต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ดียิ่งขึ้น

“ทั้งหมดนี้ เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคง ด้านสุขภาพของประเทศไทย และยังเป็นการความพร้อม รับมือกับการระบาดระลอกสอง ที่อาจจะเกิดขึ้น”นายแพทย์สมบัติ กล่าว

1 12

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของ โรคโควิด-19 ของประเทศไทย จะไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศ มาหลายสัปดาห์แล้ว แต่ยังมีการรายงาน การพบผู้ป่วยติดเชื้อ ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ในสถานกักกันที่สนับสนุนโดยรัฐบาล

ดังนั้น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จึงมีความจำเป็นในการป้องกันโรค ซึ่งสอดคล้องกับผลการประชุมเตรียมการถอดบทเรียน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง ในการป้องกันควบคุมโรคที่ดี อันเกิดจากความร่วมมือ ทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ระดับประเทศ ภูมิภาค และระดับพื้นที่ ที่ร่วมกันดำเนินการตามมาตรการ และให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี รวมถึงความร่วมมือ จากประชาชนทุกคน ในการป้องกันตนเอง จากการติดเชื้อโควิด-19

สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 23 กรกฏาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 เปิดเผยว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8 ราย เป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ คัดกรองที่ด่านสุวรรณภูมิ และเข้ารับการเฝ้าระวังกักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ แบ่งเป็นจาก อียิปต์ 4 ราย, ซูดาน 2 ราย, สหรัฐอเมริกา 2 ราย ไม่มีผู้ป่วยกลับบ้านเพิ่ม

ขณะที่มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,105 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.98 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 106 ราย หรือร้อยละ 3.24 ของผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,269 ราย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo