Politics

โควิดทั่วโลกระบาดหนัก ‘หมอธีระ’ เตือนยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเร็วกว่าเดิม 9 เท่า

โควิดทั่วโลก ระบาดหนัก “หมอธีระ” ชี้วันเดียวยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 271,804 คน ยอดรวมทะลุ 15.3 ล้านคน ยอดเพิ่มขึ้นเร็วกว่าช่วงเดือนมีนาคมถึง 9 เท่า

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat รายงานสถานการณ์ โควิดทั่วโลก โดยระบุว่า สถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลกวันนี้ วันเดียวติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 271,804 คน ทำให้ยอดรวม 15,322,417 คน

ตายเพิ่ม 6,908 คน เยอะกว่าวันก่อนๆ ยอดตายรวม 624,679 คน การติดเพิ่มด้วยอัตราเช่นนี้ จะทำให้ยอดเพิ่มขึ้น 1 ล้านคนภายในเวลาน้อยกว่า 4 วัน เร็วกว่าช่วงเดือนมีนาคมถึง 9 เท่า เร็วกว่าช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเกือบ 3 เท่า

โควิดทั่วโลก

  • อเมริกา ติดเพิ่มถึง 65,111 คน รวมแล้ว 4,084,795 คน มีคนเสียชีวิตเพิ่มในวันเดียวกว่า 1,000 คน
  • บราซิล ติดเพิ่ม 67,860 คน เยอะกว่าอเมริกา รวม 2,227,514 คน
  • อินเดีย ติดเพิ่ม 45,599 คน รวมแล้ว 1,239,684 คน จำนวนการติดเชื้อเพิ่มต่อวันของอินเดียสูงขึ้นเรื่อยๆ
  • รัสเซีย ติดเพิ่ม 5,862 คน รวม 789,190 คน
  • ในขณะที่เม็กซิโก สเปน อิหร่าน ปากีสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ก็ยังติดเพิ่มกันหลักพันถึงหลายพันเช่นเดิม ที่น่าห่วงมากขึ้นคือฝรั่งเศส ติดเพิ่มวันเดียวเกือบพันคน
  • ส่วนกลุ่มประเทศในยุโรปอีกหลายประเทศ รวมถึงสิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ก็ยังติดกันเป็นหลักร้อย
    เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน ติดกันหลักสิบ

วันก่อนได้ยินข่าวจากเพื่อนที่อเมริกา เล่าว่า เมืองใหญ่บางเมืองที่ติดเชื้อกันมากๆ นั้น ไอซียูผู้ใหญ่เต็ม ต้องเอาไอซียูเด็กมาใช้รักษาผู้ใหญ่แทน การเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

ควรคำนึงไว้เสมอว่า จำนวนเตียงในระบบสุขภาพที่ประเทศเรามีอยู่นั้น ไม่ได้มากมาย และต้องดูแลสารพัดโรค ไม่ใช่ไว้สำหรับ COVID-19 เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ทรัพยากรอื่นๆ เช่น จำนวนบุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือก็มีจำกัด การมีเคส COVID-19 เพิ่มมาหนึ่งเคส ไม่ได้แปลว่าจะใช้เตียง 1 เตียง บุคลากร 1 คน เครื่องมือ 1 ชิ้นในการดูแลรักษา แต่ใช้มากกว่านั้นหลายเท่า

ยิ่งเคสเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทรัพยากรทุกอย่างต้องถูกนำมาใช้ และลดทอนความสามารถของระบบสุขภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นๆ ไปตามลำดับ และแต่ละเคส COVID-19 ที่เข้ามารับการรักษาก็นอนโรงพยาบาลกันหลายสัปดาห์

โรคที่ติดต่อกันได้ง่าย ไม่มียารักษามาตรฐาน ไม่มีวัคซีนป้องกันอย่าง COVID-19 นี้… การป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อย่อมดีกว่าการรักษา

สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย… โอกาสหลุดรอดของผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศนั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ ขอให้พวกเราตระหนักถึงสัจธรรมข้อนี้ และดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ฝึกตัวเราและครอบครัวให้มีนิสัยระแวดระวังอย่างเป็นกิจวัตร

#ใส่หน้ากากเสมอ #ล้างมือบ่อยๆ #อยู่ห่างคนอื่น1เมตร #พูดน้อยๆ #พบปะคนน้อยลงสั้นลง #เลี่ยงที่แออัดที่ชุมนุมที่อโคจร #คอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว #หากไม่สบายควรรีบไปตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ #ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง

รศ.นพ.ธีระ กล่าวอีกว่า ระลอกใหม่จะรับมือยากกว่าระลอกแรก!!! เพราะ หนึ่ง มักเกิดในกลุ่มที่รัฐมิได้เคร่งครัด หรือคาดไม่ถึง
สอง ประชาชนมีภาวะ community exhaustion สาม กว่าจะรู้ตัว สถานการณ์มักลามไปมากแล้ว

สี่ การระบาดไม่ใช่การบวกลบเลขตรงๆ พอระบาดแล้วจะทวีคูณแบบ exponential …ดังนั้นหากรัฐไทยไปเชื่อคำลวงว่า ระบบสาสุขจะรับมือได้แน่นอนหากปล่อยให้ติดเชื้อในประเทศ 30 – 50 คนต่อวันนั้น… จะกลายเป็นการเดินหมากที่ทำให้พ่ายแพ้และล้มกระดานไปเลยครับ…

…และหากเกิดขึ้นจริง การประท้วง การชุมนุมต่างๆ จะเป็นไปอย่างชอบธรรม เพราะรัฐล้มเหลวในการบริหารจัดการอย่างแท้จริง มิใช่เกิดการชุมนุมจากการปลุกปั่นด้วยอารมณ์เรียกร้องทางการเมืองอีกต่อไป…

ต้องระวังอย่าให้เกิดขึ้นเป็นอันขาด!!!

แง้มประตูประเทศนั้นเสี่ยงแน่ๆ…แต่ต้อง “ตั้งเป้า” ว่าเราจะพยายามที่สุดที่จะไม่ให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ นี่จะทำให้เราเข้มทุกกระบวนการ โอกาสหลุดจะน้อยลง

ไม่ใช่ประกาศบ๊องๆ ว่า “ฉันจะยอมให้ติดได้ 30 – 50 คนต่อวัน… ฉันรู้ฉันมั่นใจว่าระบบฉันรับได้…”

ด้วยรักต่อทุกคน
ประเทศไทยต้องทำได้
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
23 กรกฎาคม 2563

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK