Economics

ข้อกล่าวหา ‘ทารุณลิง’ เหตุหลายชาติ ‘แบน’ กะทิไทย

กะทิไทย ตกที่นั่งลำบาก หลังจากที่ “พีตา” (PETA) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อพิทักษ์สิทธิสัตว์ ออกมากล่าวหาว่า ผู้ค้ามะพร้าว และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวของไทย “ทารุณลิง” ด้วยการใช้ลิงเป็นเหมือน “เครื่องจักรเก็บมะพร้าว”

ข้อกล่าวหาดังกล่าว ทำให้อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ที่มีมูลค่าราว 400 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 12,500 ล้านบาท กำลังเผชิญกับกระแสคว่ำบาตรในหลายประเทศ รวมถึง สหรัฐ ยุโรป และออสเตรเลีย

กะทิไทย

บลูมเบิร์ก รายงานว่า  ข้อกล่าวหาของพีตา ทำให้เกิดกระแสคว่ำบาตร ‘กะทิไทย’ ลามไปเกือบทั่วโลก โดยซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในอังกฤษ ออกมาระบุว่า จะยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย แม้กระทั่งนางสาวแคร์รี ไซมอนส์ คู่หมั้นของนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ผู้นำอังกฤษ ก็เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการทวีตข้อความอย่างต่อเรื่อง เรียกร้องให้ห้างร้านต่างๆ คว่ำบาตรสินค้าที่ใช้แรงงานลิง

ทางด้าน พีตา ระบุว่า ขณะนี้ คอสต์ พลัส เวิลด์ มาร์เก็ต ( Cost Plus World Market) ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายสินค้าพิเศษ และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ จะหยุดจำหน่ายกะทิกล่องจากไทย ในสาขาต่างๆ 276 สาขาทั่วสหรัฐ รวมทั้งการจำหน่ายทางออนไลน์

นอกจากนี้ ห้าง วอลกรีนส์ บูทส์ อัลไลแอนซ์ (Walgreens Boots Alliance) ตกลงที่จะไม่สำรองสินค้าประเภทกะทิกล่อง หรือจำหน่ายอาหารที่ทำจากมะพร้าว หรือเครื่องดื่มน้ำมะพร้าว ที่เป็นผลิตภัณฑ์จากไทย ในสาขาต่างๆ ของห้างวอลกรีนส์ 9,277 สาขาทั่วสหรัฐ เช่นเดียวกับร้าน Duane Reade ที่มี 250 สาขาในสหรัฐ ก็แบนกะทิจากไทยเช่นกัน

ส่วนร้าน บูทส์ ทั้งในสหราชอาณาจักร และประเทศไทย รวมทั้ง ร้าน Albert Heijn และ Albert Heijn ในเนเธอร์แลนด์ ก็ตกลงที่จะไม่สต๊อก หรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวที่มีการใช้แรงงานลิงในการเก็บมะพร้าวอย่างทารุณด้วย

ขณะที่ เฟซบุ๊กเพจ “พ่อบ้านเยอรมัน” โพสต์ข้อความบอกว่า ผู้ประกอบการของเยอรมนีอย่าง Tegut​ ซึ่งเป็นบริษัทซูเปอร์มาร์เก็ต​ของเยอรมนี และบริษัท​ HelloFresh​ ผู้ผลิต​ Cookboxes หรือ​ Kochbox รายใหญ่ของเยอรมนีได้ออกมา “ประกาศร่วมแบน” กะทิจากไทยอีกด้วย​

กะทิไทย

HelloFresh​ ได้เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป บริษัทจะใช้กะทิจากศรีลังกา และเวียดนามเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นอีกก้าวที่สำคัญ และน่าจะจับตาว่า ทางไทยจะแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไร​

เช่นเดียวกับเฟซบุ๊กเพจ เรื่องแปล – ข่าวนอร์เวย์ ที่โพสต์ข้อความว่า เครือข่ายค้าปลีกระหว่างประเทศ ประกาศหยุดจำหน่ายกะทิจากประเทศไทย หลังจากที่พีตา เผยแพร่วิดีโอที่แสดงภาพ ลิงถูกล่ามโซ่ ซึ่งทางด้านประเทศนอร์เวย์ กำลังตรวจสอบซัพพลายเออร์

ผู้ประกอบการนอร์เวย์ Norgesgruppen ได้ดำเนินการตรวจสอบแบรนด์ร้านค้าปลีกในเครือ ซึ่งเป็นผู้ค้าปลีกชั้นนำของนอร์เวย์ อย่าง Meny, Kiwi, Spar และ Joker รวมถึง แบรนด์  Eldorado  ที่ขายกะทิจากประเทศไทย

ผู้ผลิตกะทิ Eldorado รับประกันว่า พวกเขาไม่เคยใช้ลิง ในอุตสาหกรรมการผลิตกะทิ และทางบริษัทได้ขอให้ ซัพพลายเออร์คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กะทิจากประเทศไทยสอบสวนผู้รับจ้างช่วงว่า ได้ใช้ลิงในการผลิตหรือไม่

กะทิไทย

ทางด้าน นายบียอร์น อาริลด์ ปีเตอร์เซน ประธานกรรมการของ Lunsj.no เปิดเผยว่า ได้นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ออกจากร้านค้าในเครือแล้ว หลังจากที่มีวิดีโอเผยแพร่ภาพจากพีตา

นายปีเตอร์เซน  กล่าวว่า เขาเชื่อมั่นว่าซัพพลายเออร์ของเขามี จรรยาบรรณ แต่เมื่อมีการค้นพบเรื่องเช่นนี้ ก็จะไม่ขายกะทิจากประเทศไทยอีกต่อไปจนกว่าจะมีการสั่งซื้อ

ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ในไทย ก็เปิดเผยว่า ได้รับคำร้องขอตรวจสอบจากผู้ค้าปลีกในสหรัฐ และออสเตรเลียเช่นกัน

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหาร บริษัท เทพพดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตกะทิชาวเกาะ กล่าวว่าปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังสวนมะพร้าวอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปจะทำให้เข้มข้นมากขึ้น

พร้อมกันนี้ จะเชิญกลุ่มเกษตรกร และสวนมะพร้าว ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงา นมาทำความเข้าใจอีกครั้ง มั่นใจว่า ปัจจุบันไม่มีการใช้แรงงานลิง ในการเก็บมะพร้าว เพราะเท่าที่ตรวจสอบจากโรงงาน ที่เป็นสมาชิกของสมาคมอาหารสำเร็จรูปจำนวน 9 โรงจาก 15 โรง ต่างยืนยันตรงกัน และในส่วนที่เหลือก็ไม่น่าจะมีใครใช้แรงงานลิง

น.ส.ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิต กะทิอร่อยดี กล่าวว่า บริษัทมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเกษตรกรว่า มะพร้าวที่เก็บไม่ได้ใช้แรงงานลิง และยังมีทีมงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วย โดยจากนี้จะเพิ่มรายละเอียดลงไปในแพกเกจจิ้งให้ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo