Business

ลิงเก็บมะพร้าว แก้เกม! ดันเอกชนติด ‘รหัสตรวจสอบย้อนกลับ’

ลิงเก็บมะพร้าว แก้เกม!  “พาณิชย์” หารือปมอังกฤษถอด “กะทิ” ออกจากชั้นวาง จากปัญหาใช้แรงงานลิง เตรียมใส่รหัสบนผลิตภัณฑ์ ตรวจสอบย้อนกลับ เรียกความเชื่อมั่น “กะทิชาวเกาะ-อร่อยดี” เดินหน้าติดรหัสให้ตรวจสอบเข้มขึ้น 

พาณิชย์ หารือแก้ปัญหาอังกฤษถอด “กะทิ” ออกจากชั้นวาง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับภาคเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์มะพร้าวของไทย ถูกนำออกจากชั้นวางของห้าง บางแห่งในอังกฤษ จากกรณีความกังวล เรื่องการใช้แรงงานลิงเก็บมะพร้าว โดยได้เชิญสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ตัวแทนผู้ผลิตกะทิ 2 ยี่ห้อ คือ กะทิชาวเกาะ และกะทิอร่อยดี รวมทั้งภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้อง กับการพิทักษ์สัตว์ในประเทศ มาหารือเพื่อหาทางแนวการแก้ไขปัญหา เพราะเกรงว่า ถ้าไม่ดำเนินการใดๆ อาจจะมีผลกระทบเพิ่มขึ้น

ลิงเก็บมะพร้าว

จากการหารือได้ข้อสรุปว่า ทางเอกชนที่เป็นโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว ได้ให้คำมั่นว่า จากนี้ไปจะมีระบบตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่ผลิตได้ ผลิตจากมะพร้าวจากสวนไหน ใช้แรงงานลิงหรือไม่ โดยจะใส่รหัสบนแพกเกจจิ้ง ให้ตรวจสอบได้

ขณะเดียวกัน จะเชิญเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆ ที่ประจำเอยู่ในไทย หรือผู้แทน รวมทั้งสื่อมวลชน และองค์กรพิทักษ์สัตว์ เข้าร่วมตรวจสอบกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ คือ ตั้งแต่สวนไปจนถึงเป็นผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว เพื่อให้ทราบว่า มีกระบวนการผลิตอย่างไร ถ้าสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็จะเชิญผู้นำ เข้า ตัวแทนห้างในอังกฤษ เดินทางมาไทย เพื่อดูกระบวนการผลิตเช่นเดียวกัน

“ตอนนี้ ได้มอบหมายให้ทีมไทยแลนด์ ที่ประจำอยู่ในต่างประเทศ ได้ช่วยกันชี้แจง และนัดพบผู้นำเข้า ห้างที่เป็นลูกค้า เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการนำกะทิของไทย ออกจากชั้นวางในห้าง เป็นเรื่องของเอกชนไม่ได้เป็นมาตรการของรัฐ จึงไม่ใช่การกีดกันทางการค้าที่อยู่ภายใต้กรอบกติกาสากล

ลิงเก็บมะพร้าวนายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทางกรมฯกำลังพิจารณาสถานที่ที่จะเชิญทูต หรือผู้แทนให้เข้ามาชมกระบวนการผลิต โดยเป้าหมาย  อยากให้มาแล้วเห็นที่เดียวครบถ้วน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่วนผู้นำเข้า หรือผู้แทนห้าง จะเชิญมาในลำดับถัดไป หลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

นายเกียรติศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการบริหาร บริษัท เทพพดุงพรมะพร้าว จำกัด ผู้ผลิตกะทิชาวเกาะ กล่าวว่าปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับไปยังสวนมะพร้าวอยู่แล้ว แต่จากนี้ไปจะทำให้เข้มข้นมากขึ้น และจะเชิญกลุ่มเกษตรกร และสวนมะพร้าว ที่ป้อนวัตถุดิบให้กับโรงงานมาทำความเข้าใจอีกครั้ง มั่นใจว่าปัจจุบันไม่มีการใช้แรงงานลิง ในการเก็บมะพร้าว เพราะเท่าที่ตรวจสอบจากโรงงาน ที่เป็นสมาชิกของสมาคมอาหารสำเร็จรูปจำนวน 9 โรงจาก 15 โรง ต่างยืนยันตรงกัน และในส่วนที่เหลือก็ไม่น่าจะมีใครใช้แรงงานลิง

น.ส.ศศิวรรณ นวลศรี ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดอาวุโส บริษัท ไทย อกริ ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตกะทิอร่อยดี กล่าวว่า บริษัทมีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับเกษตรกรว่ามะพร้าวที่เก็บไม่ได้ใช้แรงงานลิง และยังมีทีมงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วย โดยจากนี้จะเพิ่มรายละเอียดลงไปในแพกเกจจิ้งให้ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

ลิงเก็บมะพร้าว ฝรั่งทำไม่เป็นล่ะสิ!

ก่อนหน้านี้ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับกรณีต่างชาติแบน “กะทิ” ของไทย โดยอ้างว่ามีการทรมาน “ลิง” จากการใช้ ลิงเก็บมะพร้าว ว่า ความคิดเห็นส่วนตัวผม ผมคิดว่า PETA หรือ People for the Ethical Treatment of Animals ควรคิด และเปิดใจในมุมมองใหม่ๆ ครับ

คนไทย นอกจากมีระบบสาธารณสุขที่ดีกว่า ฝั่งตะวันตกแล้ว คนไทยยังสามารถฝึกสัตว์ ให้เขาได้ใช้ความถนัด ตามธรรมชาติ มาทำงานที่เขารัก และทำด้วยความสุข และอยู่ร่วมกัน กับเจ้าของ แบบครอบครัว และที่สำคัญ คือการทำให้เขา มีคุณค่า มากกว่าความเป็นแค่ “สัตว์” ครับ”

ข้อมูลเพิ่มเติมนะครับ เดี๋ยวนี้การใช้ลิงเก็บมะพร้าว มีเหลือไม่ถึง 10% ของสินค้ามะพร้าว ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ จะเหลืออยู่ทางใต้ เพราะตอนนี้ มีการพัฒนาพันธุ์มะพร้าว ให้มีความสูงลดลงเยอะ ไม่ต้องต้นสูง เหมือนเมื่อก่อนแล้ว ทำให้การเก็บมะพร้าวกว่า 90%ใช้คน หรือเครื่องมือทั้งนั้นเพราะประหยัดเวลากว่า

ส่วนการใช้ลิง ถือเป็นภูมิปัญญา เพราะเป็นความสามารถพิเศษ ที่สามารถฝึกสัตว์ ให้มีคุณค่า เหนือ “สัตว์” อันนี้ ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ

นายสาธิต ยังได้โพสต์ภาพตัวเอง ที่แต่งภาพ นำลิงมานั่งบนบ่า และเขียนข้อความว่า “ฝรั่งทำไม่เป็นล่ะสิ ฝึกสัตว์ใ ห้ทำตามความถนัดของเค้า คือ การทำให้สัตว์ มีคุณค่า มากกว่าความเป็นสัตว์”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight