World News

กรณี ‘ลิงเก็บมะพร้าว’ สะท้อนอังกฤษ ตื่นตัว ‘สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์’

การระงับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะพร้าวจากไทย ของเครือข่ายค้าปลีกชั้นนำในสหราชอาณาจักร หลังข้อกล่าวหาเรื่อง “ทรมานลิง” ในอุตสาหกรรมมะพร้าวไทย คือตัวอย่างล่าสุด ที่สะท้อนความตื่นตัวของประชาชนในสหราชอาณาจักร และชาติตะวันตกอื่น ๆ ในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ สภาวะแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน

คนอังกฤษตื่นตัวกันมากในเรื่องปัญหาสภาวะโลกร้อน ทำอย่างไรที่จะลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอน ออกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดขยะ ลดการใช้พลาสติก ลดการเบียดเบียนสัตว์ โดยไม่จำเป็น

ลิงเก็บมะพร้าว ๒๐๐๗๐๘

คนรุ่นใหม่จำนวนมาก เลือกหันมาบริโภคอาหารจากพืช งดเนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์นมจากสัตว์เด็ดขาด หรือ เรียกว่า “ชาววีแกน” เพราะมองว่า การการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ เพื่อบริโภคเนื้อ และนม เป็นการทำลายชั้นบรรยากาศโลก บวกกับเหตุผลทางสุขภาพ และศีลธรรม

ส่วนกลุ่มคนที่ยังบริโภคเนื้อสัตว์อยู่ ก็คำนึงถึงสวัสดิภาพของสัตว์ ตั้งแต่ขณะเลี้ยง ไปจนถึงขั้นตอนการเชือด ความยั่งยืนต่อสภาพแวดล้อม รวมถึงสวัสดิภาพ และสวัสดิการของผู้คน ที่อยู่ในกระบวนการผลิตทั้งหมด ตั้งแต่ลูกเรือประมง คนงานแกะกุ้ง ไปจนถึงพนักงานของบริษัท ต้องได้รับการดูแลตามกฎหมาย

กะทิ น้ำมะพร้าวสด และน้ำมันมะพร้าว จัดเป็นอาหารที่ได้รับความนิยม ในหมู่ผู้ไม่บริโภคเนื้อสัตว์เด็ดขาด หรือชาววีแกน และผู้รักสุขภาพ ด้วยเป็นผลิตภัณฑ์จากพืช ที่มีคุณค่าทางอาหารมาก และใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนนม ในบางโอกาส

เมื่ออาหารที่ถูกมองว่า “สะอาด” ไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ มาถูกกล่าวหาว่า “ทรมานสัตว์” จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ขึ้นมา

คนดัง และ ห้างใหญ่ ประสานเสียง

ทันทีที่กลุ่มปกป้องสวัสดิภาสัตว์ “พีตา” ออกมากล่าวหาอุตสาหกรรมมะพร้าวของไทย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษ ยกเลิกขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าว ที่นำเข้าจากไทย โดยมีการระบุชื่อของตราสินค้า ของน้ำมะพร้าว และน้ำมันมะพร้าวด้วยนั้น

นางสาวแคร์รี ไซมอนด์ส คู่หมั้นของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์ ทวีตข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้ รวมทั้งคนดังอีกหลายวงการ และ ลอร์ด แซ็ก โกลด์สมิธ รัฐมนตรีด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐบาลนายจอห์นสัน ก็ออกมาร่วมลงชื่อเรียกร้องด้วย

ไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เทสโก้ ห้างค้าปลีกที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในสหราชอาณาจักรบอกกับบีบีซีว่า “ยี่ห้อกะทิและน้ำมะพร้าวของเรา ไม่ได้ใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิต และเราไม่ได้จำหน่ายยี่ห้อ ที่พีตาระบุไว้”

เซนส์เบอรี่ส์ เจ้าตลาดหมายเลข 2 บอกว่า กำลังตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย และสืบค้นไปที่ผู้จัดส่งสินค้าให้ในประเด็นที่ซับซ้อนนี้

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า วอลมาร์ท ยักษ์ค้าปลีกของสหรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของซูเปอร์มาร์เก็ตแอสดา (Asda) ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ในสหราชอาณาจักร ได้นำผลิตภัณฑ์ 2 ยี่ห้อออกจากการขายชั่วคราว ในระหว่างการสอบสวนกรณีดังกล่าว กับซัพพลายเออร์ผู้ผลิตสินค้า

GettyImages 623247570

น้ำมันปาล์ม กับ ลิงอุรังอุตัง

ก่อนที่ไทยกลายเป็น “จำเลย” เรื่องลิงเก็บมะพร้าว อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียก็เป็น “ผู้ร้าย” ในสายตานักอนุรักษ์มาก่อนแล้ว

น้ำมันปาล์ม เป็นสินค้าที่คนอังกฤษมองด้วยสายตาไม่ดี และต้องระมัดระวังต่อกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นี้ เนื่องจากข่าวลบหลายเรื่อง หลังมีงานวิจัยระบุว่า กระบวนการผลิตน้ำมันปาล์ม มีส่วนในการทำลายป่า

จากสถิติพบว่า พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมระหว่างปี  2533 – 2551 เกิดจากรุกราน โค่น เผาป่า เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ทำลายพันธุ์ไม้ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น อุรังอุตัง แรด ช้าง เสือ และทำป่าสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

ธนาคารกลางของอังกฤษเคยคิดที่จะใช้น้ำมันปาล์มมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิมพ์ธนบัตร 20 ปอนด์ ชนิดใหม่ แทนไขมันจากสัตว์ ที่ถูกกลุ่มศาสนาต่อต้าน แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจ เมื่อมีคำแนะนำจากงานวิจัยที่ระบุว่า “การเผาป่าเพื่อปรับพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันได้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาในระดับสูงในชั้นบรรยากาศ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ”

ปัญหาหมอกควันครั้งใหญ่ในสิงคโปร์เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ก็เชื่อว่ามาจากหมอกควันของการเผาป่าครั้งใหญ่ ในอินโดนีเซีย เพื่อการเพาะปลูกปาล์มน้ำมัน

แม้ดูเป็นผู้ร้าย นักอนุรักษ์ก็ยังยอมรับว่า ปาล์มน้ำมันมีประโยชน์ต่อมนุษย์มาก ใช้เป็นส่วนประกอบในสินค้ามากมาย ตั้งแต่ขนมขบเคี้ยว ไปจนถึงเครื่องสำอาง เป็นพืชที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมี หรือยาฆ่าแมลงมากนัก เป็นกิจการที่สร้างงานให้ผู้คนนับล้าน

ด้วยคุณประโยชน์มากมาย ผู้ผลิตสินค้า และห้างค้าปลีกในสหราชอาณาจักร จึงเลือกที่จะตรวจสอบกระบวนการตั้งแต่ต้นทางว่า น้ำมันปาล์มที่ซื้อมานั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่า ตรวจสอบได้มากน้อยแค่ไหน

ที่มา : บีบีซี ไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo