General

‘กรมน้ำ’ เร่งแผนการกระจายน้ำ ใช้ ‘อ่างพวง’ แก้ภัยแล้งพื้นที่กว้าง

กรมทรัพยากรน้ำ เร่งทำระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรือ อ่างพวง บริหารจัดการให้ประชาชนมีน้ำใช้อย่างทั่วถึง  แก้ภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง 

นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  กล่าวถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง ว่า นอกเหนือจากการพึ่งพา น้ำในอ่างหลัก หรือเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว กรมทรัพยากรน้ำได้เข้าไปทำระบบการกระจายน้ำจากอ่างใหญ่ ที่มีน้ำเหลือใช้ไปให้กับอ่างเล็กๆ ที่น้ำไม่พอใช้ หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ หรืออ่างพวง  เพื่อกระจายน้ำให้ประชาชนใช้ให้ทั่วถึงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

water

“กรมทรัพยากรน้ำได้น้อมนำแนวพระราชดำริการแก้ปัญหาภัยแล้งของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยใช้อ่างพวง หรือระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำมาใช้ พื้นที่ตรงไหนส่วนไหนที่มีศักยภาพว่าทำได้ ก็จะเข้าไปดำเนินการทันที”

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ระบุว่า กล่าวว่า การทำงานของอ่างพวงมีหลักการอยู่ว่า น้ำเกิน เติมน้ำขาด โดยให้อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตอนบนสามารถปล่อยน้ำลงมาเติมอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดเล็กที่อยู่ตอนล่างได้ จากการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำ ในแต่ละอ่างเก็บน้ำเข้าหากัน ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ประชาชน สามารถมีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดจนการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้ จะต้องมีแผนงานในการใช้จ่ายน้ำของแต่ละปี หรือฤดูกาลเพาะปลูกเพื่อให้มีน้ำในการบริหารได้ตลอดทั้งปี

“เราสามารถกระจายน้ำไปให้แหล่งน้ำขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียงได้หลายแห่งด้วยกัน ความไกลของบ่อที่จะรับน้ำจากแหล่งน้ำหลัก สามารถทำได้ตั้งแต่ 10 กิโลเมตรขึ้นไป โดยแต่ละบ่อที่รับน้ำไปแล้ว แก้ปัญหาภัยแล้งได้นับพันไร่ ซึ่งบางบ่อ บางพื้นที่ มีประชาชน เกษตรกรใช้น้ำร่วมกัน 2-3 ตำบล”

S 127983665
ภาดล ถาวรกฤชรัตน์

ระบบการกระจายน้ำก็แล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น หากพื้นที่ไหนแหล่งน้ำหลักอยู่ที่สูงก็ใช้ระบบแรงโน้มถ่วงของโลก หรือพื้นที่ไหนอยู่ไกลมากก็ใช้เครื่องสูบน้ำระบบโซลาร์เซลล์เข้าช่วย

“ตอนนี้เรามีอ่างพวงอยู่ประมาณ 800 อ่างทั่วประเทศ จากที่ดำเนินการมาแล้ว 7 แห่ง ที่ จังหวัดพิจิตร ลพบุรี ราชบุรี แพร่ อุตรดิตถ์ และ สุโขทัย โดยในปี 2564 นั้น กรมทรัพยากรน้ำมีแผนที่จะดำเนินการทำอ่างพวงต่ออีก 10 แห่ง โดยใช้งบประมาณหลักประจำปีและงบเงินกู้ ซึ่งคาดว่าสามารถบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำให้แก่ประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo