Politics

‘นายกรัฐมนตรี’ สั่งเข้ม!! เตรียมพร้อมรับมือป้องกันโควิดระบาดระลอก 2

“นายกรัฐมนตรี” สั่งเข้ม!! เตรียมพร้อมป้องกันระบาดของ “โควิด” ระลอก 2 หลังเปิดเทอม 1 ก.ค.นี้ ยันใช้ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” เพื่อควบคุมโรค ไม่มีจุดประสงค์อื่น

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลว่า ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 มาเกิน 30 วันแล้ว ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลกและประเทศในอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ยังต้องเตรียมพร้อมตั้งรับ กรณีที่อาจเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองได้ทุกเมื่อ โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันเริ่มเปิดเรียน และจะผ่อนคลายกิจการ กิจกรรมอีกหลายประเภท จึงขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องยังคงมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันดูแล

นายกรัฐมนตรี

“นายกรัฐมนตรีสั่งการในที่ประชุมว่า แม้สถานการณ์ในประเทศจะดีขึ้น แต่ขอให้ทุกส่วนสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่าทั่วโลกตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมาก ขอให้ประชาชนเข้าใจเจตนาของรัฐบาลที่ไม่ได้มีข้ออ้างในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อวัตถุประสงค์อื่น มีเพียงความจำเป็นเพื่อการป้องกัน ควบคุมโรค ไม่ให้แพร่ระบาดกลับเข้ามาใหม่ และขอให้กระทรวงสาธารณสุขและศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง(ศปม.) ร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อไป” โฆษกรัฐบาล กล่าว

นางนฤมล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งราชการ ประชาชนที่ร่วมมือกันอย่างแท้จริงจนประสบความสำเร็จในวันนี้ เห็นผลการดำเนินการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ทุกประเทศรอคอยความสำเร็จในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ซึ่งผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนอาเซียน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ซึ่งถือเป็นสินค้าเพื่อประโยชน์สาธารณะ

ทั้งนี้ ไทยได้บริจาคเงินหนึ่งแสนดอลลาร์เพื่อสนับสนุนกองทุนดังกล่าว ซึ่งนายกรัฐมนตรี เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย โดยขอให้บูรณาการการทำงาน ความร่วมมือ และระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนของประเทศไทยในการคิดค้นวัคซีนและยารักษาโรคอย่างจริงจัง หากร่วมมือร่วมใจกันอาจจะส่งผลให้การวิจัย และพัฒนาของไทยประสบผลสำเร็จเร็วขึ้น

“ส่วนมาตรการ Work From Home ที่เริ่มผ่อนคลายลง ขอให้พิจารณาใช้มาตรการเหลื่อมเวลาให้เกิดประโยชน์ ควบคู่ไปกับดูแลเรื่องการเดินทางของประชาชนไม่ให้เกิดความแออัดในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ ส่วนการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ ที่อาจยังมีประชาชนที่ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางเพื่อรับความร่วมมือต่อไป โดยย้ำว่าข้อมูลของประชาชนต้องเป็นความลับ และขอให้เจ้าหน้าที่เคร่งครัดการดำเนินมาตรการ รวมทั้งให้กำหนดมาตรการลงโทษหากเจ้าของกิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด” นางนฤมล กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เร่งพิจารณากลั่นกรองแผนงาน หรือ โครงการการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยให้คำนึงถึงการนำไปสู่เป้าหมายและทิศทางของประเทศไทยภายหลังวิกฤติโควิด เพื่อใช้งบประมาณนี้เสริมโอกาสและศักยภาพของประเทศไทยภายหลังวิกฤติ

โดย นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการดำเนินการตามมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 5 เพื่อให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ปกติ เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่กิจการ กิจกรรมในระยะนี้มีความเสี่ยงสูง จึงขอให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอธิบายสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่ามีความจำเป็นต้องกำกับดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการระบาดระลอกใหม่

ส่วนการผ่อนคลายให้คนต่างชาติเข้ามาในราชอาณาจักร ขอให้ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาจากเหตุผล ความจำเป็น ความเร่งด่วน และในส่วนของมาตรการผ่อนคลายเพื่อการท่องเที่ยวจะต้องพิจารณาต่อไป

“ได้สั่งการให้ทุกฝ่ายร่วมกันเตรียมความพร้อมทุกระยะ ทั้งระบบการจัดการที่ต้องรัดกุม ต้องเตรียมเทคโนโลยีและแอปพลิเคชันติดตามตัวบุคคลในกรณีที่เปิดให้เข้าออกประเทศเพื่อธุรกิจหรือการท่องเที่ยวไว้ล่วงหน้าเพื่อการควบคุมป้องกันในอนาคต” นางนฤมล กล่าว

นายกรัฐมนตรี

ด้านนายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้ย้ำว่า ศบค. ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานในรูปแบบ New Normal หรือการทำงานในชีวิตวิถีใหม่ รับฟังผู้ที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนโบราณ ศิลปินนักร้อง ห้างสรรพสินค้า ร้านเกม เพื่อนำสู่กระบวนการการพิจารณาตัดสินใจแนวทางต่างๆ

โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ที่เชื่อมโยงกับโควิด-19 นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดัน 3 แนวทาง ได้แก่

1. ส่งเสริมอาเซียนให้เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง
2. สร้างความเข้มแข็งจากภายใน
3. สร้างภูมิคุ้มกันอาเซียนในระยะยาว

ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นแก้ไขปัญหาในกลุ่มเปราะบาง นโยบายในการจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-19 เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการทำวิจัยพัฒนาวัคซีน การทำงานที่บ้าน (Work from Home) การใช้แพลตฟอร์ม และ แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” รวมทั้งการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เร่งกลั่นกรองแผนงานและเสริมโอกาส และศักยภาพไทย หลังภาวะวิกฤติโควิด-19 อันได้แก่ Medical Hub การเป็นแหล่งอาหารของโรค และการท่องเที่ยวแบบเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo